เกาะติด!สถานการณ์การเมืองในประเทศ ดันหรือฉุดเงินบาท-หุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง 
  • ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ค. ต้องเกาะติด
  • ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ระหว่างรอติดตามความคืบหน้าทางการเมือง ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดการโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบแรก

 โดยหุ้นไทยมีแรงหนุนเช่นเดียวกับหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มแบงก์ก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/66

ส่วนแนวโน้มสัปดาห์ที่ 17-21 ก.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของจีน

สำหรับสถานการณ์ค่าเงนิบาทนั้น ธนาคารกสิกรไทย ได้สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาแสดงความเห็นว่า แม้เฟดจะยังคงต้องคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ก็ยอมรับว่า เฟดน่าจะกำลังใกล้ยุติวัฎจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ หลังสัญญาณชะลอตัวของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ หนุนการคาดการณ์ของตลาดที่ว่า แม้เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนก.ค. แต่ก็อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกไม่มากแล้วหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ส่วนสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17-24 ก.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.00-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/66 ของจีน