เกษตรฯ “ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้ง 2563/64 เป็นไปตามแผน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการฤดูฝนปี 64 สำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า



  • ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาแหกโผปลูกนาปรัง
  • ทำได้สำเร็จเพราะใช้น้ำในพื้นที่ของตนเอง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในแถลงข่าว “ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้ง พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 64” ว่า ขณะนี้ได้สิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย.64) แล้ว ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศเป็นไปตามแผนและมีฝนตกบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน ส่งผลให้การใช้น้ำจากเขื่อนลดลง ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในการนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ของตน อาทิ บ่อยืม หนอง และบึงต่าง ๆ มาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนและเพียงพอ

ทั้งนี้ มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 16,717 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88% ของแผนฯ ซึ่งการใช้น้ำต่ำกว่าแผนวางไว้ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 5,000 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งผันมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,892 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98% ของแผนฯ
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5.95 ล้านไร่ สูงแผนวางไว้ 2.45 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.55 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 2.79 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.593 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ ในการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 63,088 ราย ส่วนของการบริหารจัดการน้ำและการรับมือฤดูฝน ปี 2564 นั้น ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงสามารถบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าด้วย