เกษตรกรคงโล่งใจ “กรมชลประทาน” เร่งจัดสรรน้ำฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ รองรับสถานการณ์น้ำฤดูฝนปี 63

  • วางกลยุทธ์เน้นเก็บกักน้ำมากที่สุด ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ปี 63/64
  • ชี้ปีนี้ฝนน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 5% คาดฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.-ก.ค.
  • หวังมีแนวโน้มพายุหมุนเคลื่อนผ่านไทย 1-2 ลูก

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2563 ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางกรมชลประทานได้เตรียมพร้อม โดยสั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คูคลองต่างๆ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว

สำหรับฤดูฝนปี 2563 ปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (รอบ 30 ปี) ประมาณ 5% ดีกว่าปี 2562 ซึ่งมีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 11% ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำในระบบชลประทานจะมากกว่าปีที่แล้ว แต่คาดว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.- ก.ค. อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนช่วงที่ฝนชุกที่สุดคือเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นปลายฤดู นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนพัดเคลื่อนผ่านประเทศไทยประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 1-2 ลูก บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

นายทองเปลว กล่าวถึงมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยว่า ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย และจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือเช่น เครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแทร็คเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ให้เพียงพอทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติฉับพลัน จะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที