“อีอีซี” จัดทัพปี’66 ดึงกลุ่มทุนดันเศรษฐกิจ BCG Model ฝันนำไทยผงาดต้นแบบศูนย์รวมธุรกิจสังคมไร้คาร์บอน

  • “อีอีซี” รุกคืบปี’66 จัดทัพใหญ่ต้นแบบเศรษฐกิจ BCG Model กระตุ้นเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยดัน “เศรษฐกิจสีเขียว”
  • พร้อมปูพรมนำประเทศสู่ “สังคมไร้คาร์บอน” ภายในปี’69 ตั้งเป้าลดให้ได้ปีละ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
  • เร่งจัดทำร่างยุทธศาสตร์ 4 ด้านรองรับ “ยกระดับห่วงโซ่การผลิต-ปฏิรูปธุรกิจ-ส่งเสริมไฮเทค-ขยายความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน”

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) “อีอีซี” รายงานว่า ปี 2566 เร่งผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Model อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) โดยใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศอย่างทั่วถึงด้วย

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน ผ่านการวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 ยกระดับห่วงโซ่การผลิตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านที่ 2 ปรับแนวทางธุรกิจใหม่ ภายใต้หลักการเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านที่ 3 ส่งเสริมเทคโนโลยีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านที่ 4 ขยายความร่วมมือเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

ตามเป้าหมายระยะสั้นปี 2564 – 2569 ตั้งเป้าภายในปี 2569 จะผลักดันภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ไม่ต่ำกว่า 10 % หรือประมาณปีละ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวกว่า 40 % นำไปสู่เป้าหมายให้ไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วยโมเดล BCG ได้อย่างยั่งยืน

รวมถึงพัฒนาระบบ “ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” เพื่อสร้างกลไกให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ลงทุนกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีเอกชนในพื้นที่อีอีซีบุกเบิกซื้อขายบนแพลตฟอร์ม

ขณะนี้ได้เร่งปรับแผน “ส่งเสริมการลงทุน” ดึงดูดเทคโนโลยี BCG จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในคลัสเตอร์ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ กระตุ้นเรื่องหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และยกระดับสภาพแวดล้อมขานรับเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนให้อีอีซีเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงทางการลงทุนดังกล่าว                                    

โดยอีอีซีได้วางแผนงานปี 2566 ต่อยอดจากปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ได้ประกาศผลักดันแนวคิด พัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ด้วยการส่งเสริมการใช้ BCG Economy Model ตามคาดการณ์จะทำให้ BCG เป็นฐานหลักของประเทศ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24 % ของจีดีพีประเทศไทยเกิดการจ้างงานกว่า 16.5 ล้านคน

และอีอีซียังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ในหลายรูปแบบควบคู่กันไปด้วย เช่น1.สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือEco-design & Zero-Waste 2.ส่งเสริมการใช้ซ้ำ หรือ Reuse, Refurbish, Sharing 3.ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค นำวัตถุดิบมาเข้ากระบวนการแปรสภาพนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Recycle, Upcycle ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมจะเน้นเฉพาะการใช้ทรัพยากร การผลิต และผลกำไร

ส่วนแนวทางผลักดันการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ BCG สร้างความสำเร็จมาตั้งแต่ไตรมาส1-3 ปี 2565 ด้วยมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสูงถึง 43,500 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรม คือ1.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  2. อุตสาหกรรมพลังงาน 3. อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปอาหาร

ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ กับอุตสาหกรรมพลังงาน ดังนั้นพื้นที่อีอีซี จึงเป็นฐานการผลิตสำคัญในระบบเศรษฐกิจ BCG มีปัจจัยหนุนทั้งทางด้านวัตถุดิบการเกษตรในพื้นที่ ห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง ดึงดูดการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยมีผู้ประกอบการชั้นนำของโลก จากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ เข้ามาลงทุนผลิตพอลิเมอร์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด” ลงทุน 6,000 ล้านบาท ผลิตกรดแลคติกเพื่อเป็นวัตถุตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ด้วยกำลังการผลิตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย บริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด ลงทุนรวม15,000 ล้านบาท และการลงทุนพลังงาน เช่น  บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด8 เมกะวัตต์ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน “อีอีซีทำความร่วมมือกับต่างประเทศ” ร่วมกับญี่ปุ่นสร้างความมั่นใจให้เครือข่ายเอกชนญี่ปุ่นซึ่งต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน กระทั่งเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ เช่น โครงการพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park โครงการนำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา อนาคตยังเตรียมต่อยอดโครงการอื่น ๆ ด้วยพร้อมจะยกระดับไทยก้าวเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจ BCG และพลังงานสะอาดแห่งอาเซียน

ทั้งนี้ในพื้นที่อีอีซี ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่

โครงการที่ 1 การบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

โครงการที่ 2 บริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดชลบุรี และอยู่ระหว่างการทำ Marketing Sounding ทำแผนรวมการบริหารจัดการขยะชุมชนทั้งจังหวัด

โครงการที่ 3 จัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) วางเป้าหมายภายในปี 2573 จะทำให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าเป็น 70:30 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการซื้อขายพลังงานสะอาด รองรับความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อลดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen