อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวหลังโควิด



  • เดินหน้าเร่งลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน
  • ลดกีดกันสินค้าจำเป็นช่วงโควิดเพิ่มเติม
  • จี้ให้สัตยาบัน”อาร์เซ็ป”ขีดเส้นบังคับใช้ปี 65

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (เออีเอ็ม รีทรีท) ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 2-3 มี.ค.64 ว่า ที่ประชุมได้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังโควิด-19 ที่เน้นการลดอุปสรรคการค้า เชื่อมโยงสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด-19 เช่น อาหาร ข้าว สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น เพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าระหว่างกัน, การเร่งเตรียมความพร้อมด้านการค้าดิจิทัล และหาทางให้อาเซียนขยายความสำคัญของการอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก

นอกจากนี้ ประชุมยังเห็นชอบข้อเสนอด้านเศรษฐกิจของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู เช่น จัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-แคนาดา ส่วนด้านที่ 2 การเป็นดิจิทัล เช่น จัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 64-68 และด้านความยั่งยืน เช่น จัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ ของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ และการจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน

“อาเซียนยังเร่งรัดให้ทุกประเทศ เร่งกระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยไทยได้เสนอให้สมาชิก กำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือ วันที่ 1 ม.ค.65 เพื่อให้ทุกประเทศมีเป้าหมายดำเนินการภายในที่ชัดเจน และยังแจ้งว่า รัฐสภาไทยได้ให้การรับรอง เพื่อให้ไทยให้สัตยาบันความตกลงแล้ว ถือเป็นประเทศแรก และไทยกำลังเตรียมการภายในเพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ได้ภายในกำหนด”

สำหรับความสัมพันธ์กับนอกภูมิภาค ได้เร่งหารือเรื่องการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย รวมถึงเร่งให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหารือกันเพื่อจัดทำความเห็นต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรปด้วย