อาเซียนลงนามห้ามกีดกันการค้าสินค้าจำเป็น 152 รายการ

  • อำนวยสะดวกนำเข้าส่งออกอาหาร ยา อุปกรณ์การแพทย์
  • หวังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนในช่วงโควิด-19 ระบาด
  • ย้ำสมาชิกยังใช้มาตรการทางการค้าได้แต่ต้องสอดคลัอง WTO

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ตน และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดําเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีสําหรับสินค้าจําเป็น ภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าจำเป็นระหว่างกัน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนเม.ย.63 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่วมกันออกแผนปฏิบัติการฮานอยฯ ซึ่งเป็นการวางกรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยให้หลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้า ซึ่งจะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการระหว่างกัน 

“สาระสำคัญของแนวทางปฏิบัติของอาเซียน ที่กำหนดในเอ็มโอยู ถือว่าเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชน และการดำเนินการด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจระหว่างกันโดยอาเซียนจะไม่ใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี ที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กับสินค้าจำเป็นในกลุ่ม ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวม 152 รายการก่อน แต่อาเซียนยังมีสิทธิใช้มาตรการทางการค้าได้ เช่น จำกัดการส่งออก ฯลฯ โดยก่อนใช้ ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบ ใช้เป็นการชั่วคราว และสอดคล้องกับดับบลิวทีโอ โดยเอ็มโอยูฉบับนี้ จะมีอายุ 2 ปี เมื่อหมดอายุแล้ว สมาชิกสามารถทบทวนความจำเป็นและรายการสินค้าเพิ่มเติมได้” นายจุรินทร์ กล่าว