“อาร์เซ็ป”ทำเกาหลีใต้เลิกเก็บภาษีสินค้าไทย 413 รายการ

.เพิ่มจากที่ยกเลิกเก็บให้ภายใต้เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ 

.ผู้ส่งออกเฮลั่น! ทั้งสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ 

.แนะผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกให้ได้เต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์สามารถผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ประสบความสำเร็จนั้น เกาหลีใต้นับเป็น 1 ในตลาดสำคัญที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีอยู่เดิม คือ เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ 

สำหรับภายใต้อาร์เซ็ป  เกาหลีใต้จะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มากถึง 413 รายการ ที่เกาหลีใต้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าให้ไทยเพิ่มเติมจากเอฟทีเออาเซียน-เกาฟลีใต้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผักผลไม้สดและแปรรูป สบู่ แชมพู น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งที่ทำจากรากหรือหัวของพืช (เช่น แป้งมันสำปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม) พลาสติก เครื่องแต่งกาย เครื่องแก้ว ไม้ เครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ สินค้าประมง รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น 

ส่วนกลุ่มสินค้าที่เกาหลีใต้ได้ยกเว้นภาษีให้อยู่แล้วภายใต้อาเซียน-เกาหลีใต้ และไม่ได้เปิดเพิ่มให้ในอาร์เซ็ป เช่น เนื้อสัตว์ ดอกไม้ประดับ ผักสด (อาทิ ต้นหอม ผักกาด หอมแดง) ชา ธัญพืช น้ำมันจากพืช ของที่ทำจากน้ำตาล ผักผลไม้ปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ โฟลตกลาสและแก้วที่ขัดผิวหรือขัดมัน เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องจักร เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบไทยจึงควรพิจารณาสิทธิประโยชน์ในกรอบเอฟทีเอต่างๆ และเลือกใช้กรอบที่มีความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตน ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กับเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของตนเอง และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านพิธีการศุลกากรที่กำหนดในแต่ละเอฟทีเอด้วย 

นางอรมน กล่าวต่อว่า กรมได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่เกาหลีใต้เก็บกับสินค้าส่งออกของไทยภายใต้ทั้ง 2 ความตกลงในเว็บไซต์กรม ที่ http://tax.dtn.go.th รวมทั้งข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในเอฟทีเอฉบับต่างๆ ที่ http://www.thailandntr.com ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ ที่ควรจะได้รับจากแต้มต่อทางภาษีที่ประเทศไทยเจรจามาได้ในเอฟทีเอ