“อาคม” เผยลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ต่อ 2 เดือน ทำสูญรายได้ 2 หมื่นล้าน ยันไม่กระทบการจัดเก็บรายได้

  • ขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน และไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนักหรือน้ำมันดีเซล บี0
  • ลดภาษีน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. อัตราศูนย์ ต่ออีก 6 เดือน
  • ชี้ห่วงส่งออกในเรื่องขาดแคลนชิป ต้นทุนวัตถุดิบเหล็กชุบดีบุกผลิตกระป๋องปรับราคาขึ้นสูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (13 ก.ย.65) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องอีก 2 เดือน โดยจะเริ่ม 21 ก.ย.-20 พ.ย.65 นอกจากนี้ ยังมีมติขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน และไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ ออกไปอีก 6 เดือน

นายอาคม กล่าวว่า การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลค่อครั้งนี้ ก็ส่งผลให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้เดือนละ10,000 ล้านบาท โดยหากรวมทั้ง 2 เดือน ก็จะสูญเสียรายได้ที่ 20,000 ล้านบาท ขณะที่การลดภาษีดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้านั้น ทางกระทรวงฯ ก็จะสูญเสียรายได้ไป 1,436 ล้านบาท ซึ่งการสูญเสียรายได้จะคาบเกี่ยวในปีงบประมาณ 2565 ที่จะสิ้นสุดถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และต้นปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มในเดือน ต.ค. 

“ขอยืนยันว่า การสูญเสียรายได้ในจุดนี้ ไม่ได้มีผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงฯ แต่อย่างใด โดยยังคาดว่าปีงบประมาณ 66 จะสามารถเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังยังคงเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 (จีดีพี) ไว้ที่ 3.5% โดยจะต้องรอพิจารณาในไตรมาสสุดท้ายของปี 65 นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการรายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยแล้ว 5 ล้านคน  ทั้งนี้คาดการณ์ว่าทั้งปี 2565 ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 8 ล้านคน 

ทั้งนี้ ยังมีในด้านการส่งออกที่ยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต โดย 10 เดือน ขยายตัวได้กว่า 11% โดยสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือก็คาดว่า ปีนี้จะทำยอดส่งออกโตได้ 8% ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังก็ให้การบ้านเป้าปีนี้ขอให้ได้เป็น 10% ซึ่งสภาผู้ส่งออกก็รับปากในเรื่องนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง สำหรับภาคการส่งออก ก็คือเรื่องปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงยังมีสินค้าในหมวดอาหารกระป๋อง ที่ขณะนี้ต้นทุนด้านวัตถุดิบในส่วนของเหล็กชุบดีบุกที่วัตถุดิบหลักนำมาผลิตกระป๋อง ก็มีราคาที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้ก็จะมีผลต่อราคาสินค้าประเภทกระป๋อง ซึ่งก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าไปดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด