“อาคม” ยันไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษี เล็งชงครม.คงแวต 7% ต่ออีก 1ปี



  • รอผลการศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบก่อน
  • รอกรมสรรพสามิตเสนอโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่
  • ชี้ 3 กรมภาษีรายได้ต่ำเป้า 100,000 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงกาาคลังยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับเพิ่มภาษีใดๆ รวมทั้งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จำนวน 7% ที่จะครบกำหนดสิ้นเดือนก.ย.นี้ และจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)​ คงอัตราแวต 7% ออกไปอีก 1 ปี

“ขอยืนยันว่าในช่วงนี้จะไม่มีการเพิ่มอัตราภาษี Vat แน่นอน เพราะจะต้องให้การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้วเสร็จก่อน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแล้วตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในเดือนต.ค.2562 โดยการศึกษาโครงสร้างภาษีนั้นให้ระยะเวลา 1 ปี”

สำหรับการศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ จะต้องพิจารณาการขยายฐานภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บด้วย โดยปีงบประมาณ 2564 จะเป็นการศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาศึกษาอีก 6 เดือน และจะต้องมีการประเมินการจัดเก็บรายได้ในเดือนมิ.ย.64 อีกครั้ง หลังจากกรมสรรพากรได้ออกมาตรการบรรเทาภาระประชาชน ด้วยการเลื่อนเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ปีภาษี 2563 ไปจนถึงมิ.ย.64 ซึ่งจะต้องดูเรื่องการจัดเก็บรายได้ด้วยว่าต่ำกว่าเป้าหมายหรือไม่

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นั้น กรมสรรพสามิต ยังไม่ได้เสนอโครงสร้างภาษีใหม่มาให้พิจารณาว่าจะคิดอัตราภาษี 2 อัตรา ตามเดิม คือ กรณีราคาขายปลีกต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง เสียภาษี 20% และหากราคาขายปลีกสูงกว่าซองละ 60 บาท เสียภาษี 40% หรือจัดเก็บภาษีอัตราเดียว 40%

“การจัดเก็บรายได้ต่ำเป้านั้นเป็นกันทุกประเทศ เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อาศัยภาคท่องเที่ยวเป็นหลักคิดเป็น12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)​ อย่างไรก็ตามกระทรวงคลังยังมีรายได้หลายทาง นอกจากการจัดเก็บรายได้จากกรมภาษี ยังมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจ และการกู้เงิน ซึ่งเชื่อว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะสามารถปิดหีบงบประมาณได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตนั้น ตั้งแต่เดือนต.ค.2563-ก.พ.2564 รวมระยะเวลา 5 เดือน จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายแล้วจำนวน 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังแม้จะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแต่ยังมีรายได้จากส่วนอื่นทดแทน เช่น รายได้จากรัฐวิสาหกิจที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง เป็นต้น