

- เผยหลายฝ่ายกังวล4ประเด็น“ราคาน้ำมันแพง–อาหารแพง–โควิด–ดอกเบี้ยขาขึ้น”
- เชื่อทั่วโลกต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่มาตรการดูแลโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2565 และในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 44 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัญ กรุงเทพฯ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้จะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่แพร่กระจายเร็วมากนั้น ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะมีกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นทุกคนต้องระมัดระวัง ดูแลตัวเอง ปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เมื่อทุกคนร่วมมือกัน เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตถึง 4% ตามที่มีการคาคการณ์ไว้ และตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

สำหรับเรื่องที่หลายฝ่ายมีความกังวล 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ภาวะราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นผลจากความตรึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะอยู่ที่ 90-100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของการขนส่งและมีผลต่อธุรกิจอื่นๆด้วยโดยกระทรวงการคลัง ได้ปรับลดภาษีสรรพสามิต ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงสามารถบริหารจัดการได้ แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแยังระหว่างยูเครนกับรัสเซียอย่างใกล้ชิด
2.ราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น ภาครัฐ ได้เข้าไปควบคุมดูแลแล้ว เชื่อว่าราคาสินค้าหมวดอาหารจะปรับลดลง และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ตรงจุดถูกต้อง เชื่อว่าราคาจะลดลงอย่างแน่นอน
3.การแพร่ระบาดโควิด ซึ่งทุกประเทศก็กังวล ว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ทั้งในต่างจังหวัด ค้าชายแดน ดังนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเอง ปฎิบัตตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ระมัดระวังตัวเอง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ไม่สะดุด เพราะทุกประเทศ ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับวิกฤตโควิด

และ 4.ดอกเบี้ย ที่หลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้ว อัตราดอกเบี้ยในไทยก็จะปรับขึ้นตามไปด้วยนั้น นายอาคม กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยในไทย ขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) ซึ่งผู้ว่าการธปท.เคยประกาศว่า การจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่นั้น ต้องใช้เวลา 2 ปี หรือจะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2567 ฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มจะฟื้นตัว การคงอัตราดอกเบี้ย น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องรอฟังความชัดเจนจากธปท.อีกครั้ง
ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตนั้น ต้องใช้นโยบายคู่ขนานระหว่างนโยบายการเงินการคลัง โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็ต้องบริหารรายรับและรายจ่ายให้สมดุลกัน เมื่อรายได้ ยังไม่สมดุลกับรายจ่าย ก็ต้องกู้เงิน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็กู้เงินมาแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท และใช้เงินกู้เพื่อเยียวยาดูแลประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินราว 100,000 ล้านบาท ส่วนการบริหารหนี้สาธารณะ เชื่อว่าสิ้นปีงบประมาณปี65 จะอยู่ที่62%ภายใต้เศรษฐกิจเติบโต 4% อย่างไรก็ตามไม่อยากให้กังวลเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะ เพราะหลายประเทศยอดหนี้สาธารณะสูง เนื่องจากทุกประเทศมีความจำเป็นในการใช้จ่าย ใช้เงิน เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม จากวิกฤตโควิด-19