

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยมี นายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม
เวลา 10.05 น. เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท รายงานผลการพิจารณาของ กมธ.ว่า การพิจารณ กมธ.ให้ความสำคัญสอคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายอาคม กล่าวต่อว่า กมธ.มีข้อเสนอในภาพรวมที่สำคัญเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องที่เชื่อมโยงระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ การประเมินความคุ้มค่าต่อทรัพยากรที่จัดสรร ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ มุ่งเน้นการลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านเศรฐกิจและสังคม จากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวในวงกว้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยกมธ.ได้ปรับลดงบประมาณลง จำนวน 16,362,010,100 บาทถ้วน
นอกจากจะได้พิจารณาจากความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนระดับต่างๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลแล้ว ยังได้คำนึงถึงแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอดจนเป้าหมายและผลการดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเอง การนำผลการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา และความพร้อมในการดำเนินงานเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
นายอาคมกล่าวว่า อาทิ รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รายการที่ปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรม สัมมนา การจ้างเหมาบริการ เป็นต้น รวมทั้งรายการที่มีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหมดไว้ และคาดว่าใช้จ่ายไม่ทันปีงบประมาณ 2565 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่มีผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้ และรายการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากงบประมาณได้ เช่น เงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเอง และเงินสะสมคงเหลือในหน่วยงาน หรือกองทุน
สำหรับการเพิ่มงบฯนั้น กมธ.ได้พิจารณาเพิ่มให้กับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จำนวนทั้งสิ้น 16,362,010,100 บาทถ้วน ตามจำนวนที่ปรับลดงบประมาณได้ เพื่อสำรองไว้บรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
นายอาคมกล่าวว่า นอกจากนั้นยังอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 38,893,400 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 20
“การพิจารณารายละเอียดงบประมาณ ทั้งการปรับลดและเพิ่มงบปะมาณให้ความสำคัญต่อความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อนเป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจที่สำคัญเพื่อรอรับแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รายการจำเป็นเร่งด่วน เป็นประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ดำเนินการตามกรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่สภาได้รับหลักการวาระแรก” นายอาคมกล่าว