“อาคม”นั่งหัวโต๊ะหาช่องช่วยสายการบิน ยอมรับช่วยได้ไม่ถึงวงเงิน “ซอฟท์โลน”ที่ขอ



วันที่ 7 ก.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยก่อนเข้าประชุมวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และสมาคมสายการบิน 7 แห่งที่เสนอขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ “ซอฟท์โลน” วงเงิน 5,000 ล้านบาทว่า ต้องรอฟังข้อเรียกร้องของสายการบินก่อน แต่ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มอบหมายให้เอ็กซิมแบงก์เข้าไปดูแลช่วยเหลือสภาพคล่อง รวมถึงการพักชำระหนี้ให้กับสายการบินที่เป็นลูกค้าเดิม ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และสายการบินไทยแอร์เอเชียแล้ว ขณะที่ล่าสุดสายการบินไทยสมายล์ ก็ได้ช่วยเหลือเรื่องการจ้างงานไปแล้ว

นอกจากนี้ที่ผ่านมาสายการบินได้มีการหารือร่วมกับเอ็กซิมแบงก์และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การช่วยเหลือนั้นก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน ส่วนวงเงินช่วยเหลือของเอ็กซิมแบงก์นั้น มีทั้งใช้วงเงินของแบงก์เอง หรือใช้ซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ได้

“ในฐานะแบงก์รัฐ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแต่อาจไม่เต็มที่ และไม่สามารถให้ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด เพราะแบงก์ก็ต้องพิจารณาตามกฎเกณฑ์ที่มี เชื่อว่าเมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดค่อยๆ ผ่อนคลายลง ประกอบกับการมีวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง กิจกรรมก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสายการบิน แต่จำนวนที่นั่งผู้โดยสารอาจยังต้องจำกัดเปิดได้แค่ 70% – 80% และยังต้องดูแผนว่าจะบินได้กี่เที่ยวบิน แต่อย่างน้อยก็ยังมีรายรับเข้ามา” รมว.คลัง กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอ็กซิมแบงก์ได้ช่วยเหลือลูกค้าสายการบินเดิมไปแล้ว คือ การพักชำระหนี้ เพื่อไม่ต้องกังวลภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังทำการบินไม่ได้ อย่างไรก็ตามการเติมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจจะต้องมีเครื่องมือของภาครัฐเข้ามาช่วย เช่น พ.ร.ก.ฟื้นฟูของแบงก์ชาติ เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องกำหนดแนวทางการช่วยเหลือไปที่การจ้างงานในระดับผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมี 2 แนวทาง คือ ใช้เงินของเอ็กซิมแบงก์เอง หรือ ใช้เงินจากประกันสังคม วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นสายการบินไทยหรือต่างประเทศ เพราะ พนักงานส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานคนไทย ซึ่งการใช้วงเงินช่วยเหลือของเอ็กซิมแบงก์ จะต้องใช้สินทรัพย์ในการค้ำประกัน หรือใช้ บสย.เข้ามาช่วยค้ำ

ส่วนธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนมากจะไม่เข้าเงื่อนไขของ บสย. ดังนั้นหากจำเป็นอาจต้องไปแก้คำนิยามเพื่อให้ บสย. สามารถเข้ามาค้ำประกันธุรกิจสายการบินได้ หรือ กรณีเป็นธุรกิจต่างชาติอาจต้องใช้หลักทรัพย์ของบริษัทแม่เข้ามาช่วยค้ำประกัน หรือสินทรัพย์อื่นๆ เข้ามาช่วยค้ำประกัน