

- จำเป็นต้องใช้มาตรการระยะสั้นดูแลเศรษฐกิจ
- พบสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการส่งออก
- ชี้ไทยยังมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
วันที่ 16 ก.ค.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวสุนทรพจน์ในงานTHAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษศฐกิจ ซึ่งจัดโดยธนาคารโลกว่า รัฐบาลจะใช้ 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยระยะต่อไป โดยแนวทางแรก คือ มาตรการในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนระยะสั้น ซึ่งมองว่า ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะในส่วนมาตรการทางการเงินนั้น ได้ดำเนินการพักชำระหนี้ใน 10 จังหวัดที่ล็อกดาวน์ระยะ 2 เดือน ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน ซึ่งคาดว่าจะยืดระยะเวลามาตรการนี้ให้ยาวออกไปอีก
“ขณะนี้เราได้พักหนี้ 2 เดือน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เร็ว รายได้ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถได้เงินสดมาชำระหนี้ได้ทัน คงต้องติดตามต่อไป การช่วยเหลือการเงินจะยืดออกไปอีกหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบนอกระบบมีลมหายใจต่อชีวิตการทำธุรกิจปีนี้และปีหน้า ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือ ระยะสั้น คือ การเยียวยา มาตรการการเงิน กระตุ้นบริโภคระยะสั้น จำเป็นต้องทำก่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่”
แนวทางที่สอง คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการฟื้นตัวยั่งยืน ประเด็นนี้ รัฐบาลจะดำเนินการผ่านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ลดการใช้พลังงานและหันมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้ก๊าซคาร์บอน ใช้ดิจิทัลอีโคโนมี และส่งเสริมเฮลท์แคร์
แนวทางที่สาม คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการผ่านการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่ยั่งยืนรองรับวิกฤตต่างๆ และ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการมีหลักประกันทางสังคมให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน
ขณะที่มาตรการในการดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐจึงใช้มาตรการต่างๆเข้าไปพยุงไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง ซึ่งดำเนินการตามแนวทางที่ไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์แนะนำ คือ การผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพื่อให้นโยบายการคลังดำเนินการได้อย่างเต็มที่
“การต่อสู้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ ซึ่งปีที่แล้วได้ก็ได้กู้เงินไป 1 ล้านล้านบาท และ ปีนี้ กู้เพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำเป็น เพราะเป็นแหล่งเงินสุดท้าย ก็มีประเด็นเพิ่มเรื่องหนี้สาธารณะ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำในทุกประเทศ ไม่มีประเทศไหนยกเว้น เพราะแหล่งเงินจำกัด”
อย่างไรก็ตาม รัฐเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งกรณีไทย คือ การส่งออกในเดือนพ.ค.และมิ.ย.ถือว่า ส่งออกได้ดี แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตยังดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคผลิตก็มีการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงาน ยังมีการติดเชื้อทุกวันนี้ ดังนั้นมาตรการสาธารณสุขก็เข้าไปตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อป้องกันฐานการผลิตถูกกระทบมากไป
ส่วนภาคท่องเที่ยวในปีนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการดูแลผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บล็อก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และมีโครงการที่สอง คือ สมุยพลัส ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุข
“การส่งออกและท่องเที่ยว ถือเป็นรายได้หลักของเรา ถ้าเราเปิดได้ แสดงให้เห็นความมั่นใจจะควบคุมและป้องกันผู้ติดเชื้อพร้อมดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเกินไป”
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณอีกเรื่องแสดงฟื้นตัว คือ การลงทุนของเอกชน ดูได้จากการนำเข้าสินค้าทุนของประเทศ มีสัญญาณเป็นบวกมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนที่ได้รับการกระทบ คือ บริโภคประชาชน ก็มีมาตรการไปช่วย ทั้งมาตรการคนละครึ่ง และ ยิ่งช้อปยิ่งได้ ซึ่งจะหนุนการบริโภค ก็ถือว่า ทำได้ระดับหนึ่ง
“ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดูได้จากทุนสำรองที่มีฐานะมั่นคง โดยหนี้สาธารณะยังอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ในเดือนพ.ค.อยู่ที่ 55% ยังต่ำกว่า 60% อย่างไรก็ตาม เราไม่ประมาท เพราะยังมีการติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา”