

- เผยสาธารณสุขเตรียมการไว้ 2 เรื่อง 1. พัฒนาองค์ความรู้การใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น
- 2.พัฒนาทักษะของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชง
- ชี้ปัจจุบันจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยได้รับยากัญชา มากกว่า 2.4 แสนราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค.65) ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 5 (จ.ราชบุรี, เพชรบุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม สมุทรสาคร, นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์) ในหัวข้อ กัญชา กัญชง ความมั่นคง ทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ มีผู้บริหารกระทรวงฯ และข้าราชการฝ่ายปกครองบุคลากรด้านการสาธารณสุข อสม. ประชาชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนในการทำให้กัญชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ มีความโดดเด่น เรานับหนึ่งจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ไปจนถึงการทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และความสำเร็จล่าสุด คือ มีการแก้กฎหมายทำให้กัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการผลักดันนโยบายนี้

ทั้งนี้ เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการไว้ 2 เรื่อง คือ 1. พัฒนาองค์ความรู้การใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น เสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนผ่าน โดยฝึกอบรมผ่านเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ จัดทำเป็นคู่มือ และอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้กัญชา เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นยาสุนไพร และ2. พัฒนาทักษะของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากองค์ความรู้ทางสมุนไพร การเพิ่มประสิทธิผลและความปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมยา อาหาร ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกัญชา ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัด และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ขอเรียนย้ำว่า การใช้กัญชา กัญชง ต้องใช้อย่างเข้าใจ ให้เป็นไปตามเพลงที่คุณยืนยง โอภากุล แต่งไว้ ว่า”กัญชามีจารึกในประวัติศาสตร์ ว่าไทยแลนด์เป็นชาติที่ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ” มาถึงตอนนี้ เราปลดกัญชา พ้นจากรายชื่อยาเสพติดสำเร็จ เหลือแต่เพียง สารสกัด THC เกิน 0.2% ที่เป็นยาเสพติด ขณะที่ส่วนต่างๆ หลุดออกมาหมดจะให้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ จดแจ้งขอปลูกได้ แต่ถ้าจะปลูก ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมต้องขออนุญาต ความชัดเจนจะเกิดขึ้นหลังบังคับใช้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งขณะนี้ พิจารณาอยู่ในสภา กฎหมายที่ได้เสนอเข้าไป เกิดจากความร่วมมือของผู้แทนประชาชนจากทุกพรรการเมือง ต้องขอขอบคุณทุกท่าน ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน เมื่อกฎหมาย ออกมา ขอให้ใช้กัญชาให้เป็นคุณ อย่าใช้ให้เป็นโทษ เราคบแต่เรื่องดี ส่วนเรื่องไม่ดี ต้องไม่คบ ต้องไม่ยุ่ง
“ขอเรียนเน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากำลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุม ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ ประชาชนที่ต้องการปลูก เพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นมาจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับบรรยากาศกิจกรรมภายในงาน นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ ตลาดนัดความรู้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิมและลงมือทำนายอนุทินได้เดินชมบูธจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง นอกจากนั้นยังได้ร่วมประกอบอาหารที่ใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบเช่นผัดกระเพราหมูกรอบ, ลาวากัญชา (ไส้กล้วยหอมใบกัญชาแห้ง กับไส้มันเทศกัญชาสด) ท่ามกลาง ความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับการดำเนินกิจกรรมเรื่องการพัฒนา การใช้ประโยชน์ กัญชา ทางการแพทย์ ในเขตสุขภาพที่ 5 มีการดำเนินการครอบคลุมทุกมิติ ในด้านต้นน้ำ มีพื้นที่การปลูกที่กำลังดำเนินการมากกว่า 3,000 ไร่ ครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัดและยังมีกัญชาพันธุ์พื้นถิ่น ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรี อีกด้วย ในส่วนกลางน้ำ มีโรงงานมาตรฐาน GMP/WHO ถึง 3 แห่งที่พร้อมกำลังการผลิตตอบสนองต่อการรักษาตามมาตรฐาน ได้แก่ โรงพยาบาลดอนตูม จังหวัดนครปฐม โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และโรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งในส่วนของปลายน้ำทั้งด้านการสาธารณสุข ที่มีโรงพยาบาลราชบุรีนำร่องการดำเนินงานกัญชาในผู้ป่วย Palliative Care ทางการแพทย์แผนไทย รวมทั้งด้านการเศรษฐกิจที่ผลักดันสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรสมุนไพร และผลิตภัณฑ์กัญชาจากชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยกัญชาเสรีทางการแพทย์
ปัจจุบันจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยได้รับยากัญชา มากกว่า 240,000 ราย เป็นยาแผนไทย 85% แผนปัจจุบัน 15% รวมถึงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 7,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และในครัวเรือนได้มากขึ้นโดยไม่ต้องขออนุญาต เปลี่ยนเป็นการจดแจ้งให้รัฐทราบ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง กัญชง1,800 กว่าแห่ง ที่ได้รับอนุญาตและมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง