

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค.64) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ในงานแถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการกัญชาในอุตสาหกรรมสุขภาพและการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. เกษตรและสหกรณ์, นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน
ทั้งนี้นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าของกัญชาในตลาดโลก มีมากถึง 500,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่า17% โดยการใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึง 70% ของมูลค่าทั้งหมด

โดยกัญชาเป็น โอกาสทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมให้พัฒนาการปลูกกัญชาแบบครบวงจรหรือ product Champion ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกร ผู้ปลูกกลางทางคือผู้ผลิต และปลายทางคือผู้ขายและประชาชน มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศใน 3 ด้านได้แก่ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า กัญชาเป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนแม้กระทั่งดอก ที่มักจะมีการมองว่าเป็นส่วนที่มีโทษเสพแล้วจะทำให้มึนเมา แต่เมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาลสามารถสกัดออกมาเป็นยารักษาโรคได้

ทั้งนี้ในห้วงเวลาที่ทั้งโลกต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทางออกในเรื่องนี้และหาทางเลือกให้กับประชาชนเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งกัญชาได้รับเลือกให้เป็นคำตอบตรงนั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นตัวประสานเพื่อผลักดันกัญชา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยวางเป้าว่าใน ในอนาคตอันใกล้กัญชาจะเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพด้วย
“ที่สุดแล้วกระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างยั่งยืนจึงได้ออกกฎกรอบขึ้นมามากมายเพื่อควบคุมมาตรฐานของกัญชา ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือของภาคประชาชนและทุกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องด้วยว่าการปลูกกัญชาและการผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชานั้น ให้คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ” นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ตามเพื่อให้สนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาอย่างแพร่หลาย หลังจากนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคลายล็อคเรื่องการนำกัญชาและผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชา เปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุขภาพร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตที่มีศักยภาพและวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วมกว่า 25 บริษัทมีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน การจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้คาดว่ามีค่ามากกว่า 150 ล้านบาท
ขณะที่ในเรื่องของการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการสาขาที่ 20 ปัจจุบันเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 700 แห่งทั่วประเทศมีผู้มารับบริการมากกว่า 60,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง