“อนุทิน” ลงพื้นที่ “อุทัยฯ” ชม อสม.เข้มแข็ง เป็นเกียรติยศของประเทศ พร้อมปลุกใจ เดินหน้าสู้โควิด-19

30 กันยายน 2563 ที่หอประชุมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อุทัยธานี อ. เมือง จังหวัดอุทัยธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เปิดการประชุมวิชาการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคเหนือ พร้อม มอบนโยบายการดำเนินงาน อสม. เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ อสม.มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ในฐานะหน่วยงานที่ช่วยประเทศไทยควบคุมโควิด-19 ประสิทธิภาพ อสม.คือเกียรติยศของประเทศไทย นี่คือมือไม้ของหมอและพยาบาล เพราะมีจำนวนถึง 1 ล้าน 5 หมื่นคน ขณะที่หมอและพยาบาล มีไม่ถึงแสนคน

ทั้งนี้ อสม.ทั้ง 1 ล้านคน เข้ามาช่วยในการคัดกรองโรค เป็นด่านหน้าที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศใดที่ได้รับการยกย่องเชื่อถือว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างชาติในการมาท่องเที่ยว ลงทุน และมาพำนักถิ่นฐาน

อย่างไรก็ตามขอให้ อสม.รักษาเกียรติยศ ชื่อเสียงต้นทุนของความน่าเชื่อถือนี้ไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความภูมิใจ แต่เราต้องการให้ อสม.เป็นที่เชื่อถือในประชาชน

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนตัวนั้น รู้จัก อสม.มาตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และมองเห็นคุณค่าของ อสม.ตราบจนปัจจุบัน สำหรับ อสม.ทุกท่าน ขอให้รับทราบว่า จากนี้ งานจะต้องหนักขึ้นแน่นอน เพราะประเทศไทย กำลังค่อยๆ เปิดประเทศ เพราะ จะปล่อยให้เศรษฐกิจไทย ย่ำแย่แบบนี้ ต่อไปไม่ได้ ประชาชนจะอดตายเสียก่อน แน่นอนว่า หากถึงวันปฏิบัติจริง งานของ อสม.จะต้องเข้มข้นกว่าเดิม ถึงเวลาที่ ต้องคิดเรื่องการรุกกลับโควิด-19 แล้ว เราต้องเป็นผู้กระทำ มากกว่าผู้ถูกกระทำ

อย่างไรก็ตามรัฐบาล ไม่เคยเพิกเฉยกับความทุ่มเทของนักรบชุดเทา ที่ผ่านมามีการให้ค่าตอบแทนพิเศษไปแล้ว 7 เดือน และล่าสุด ครม.อนุมัติเพิ่มเติมอีก 3 เดือน และจะมีการช่วยเหลือในอนาคต

จากนี้ ขอให้ อสม.ช่วยกันดูแลพื้นที่ชายแดน หากพบเหตุน่าสงสัย อาทิ คนต่างด้าวแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วน ในปีหน้า ต้องเดินหน้านโยบายหมอ 3 คน อสม.ได้รับบทบาทให้เป็นหมอครอบครัว ทำงานร่วมกับ รพ.สต. และแพทย์ประจำโรงพยาบาล งาน อสม.ต้องมากขึ้น ตามความรับผิดชอบ แต่ทั้งหมด เป็นเพราะความไว้ใจ อันเกิดจากความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม.ซึ่งภาครัฐ ไม่มีทางลืมผลงานแน่นอน

“ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาถึงการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถตรวจเจอได้หลังติดเชื้อ 4-5 วัน ว่ามีความแม่นยำเช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อตามมาตรฐาน(RT-PCR)หรือไม่

ประเด็นนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่มีการหารือเรื่องให้ลดการกักตัวจาก 14 วัน อาจเหลือเพียง 10 วัน หรือ 7 วัน เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการกักตัวลงได้

แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมวิธีการตรวจเลือด เพราะการตัดสินใจใดๆ ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากอนาคตมีวัคซีนโควิด 19 ประเทศไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น”