“อนุทิน” ลงพื้นที่ “ชลบุรี” เปิดโรงเรือนปลูกกัญชา ขอบคุณ อภ.ลุยผลักดันนโยบายเต็มที่ ย้ำ กม.คลายล็อกผ่าน ครม.จ่อเข้าสภา



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse)” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมในพิธีว่า เรื่องกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นนโยบายที่ต้องทำให้เกิดรูปธรรม เพราะเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียง ที่ผ่านมา กัญชา ถูกตีตรามาตลอด ด้วยคำว่า “ปุ๊น” ว่า”พี้” ทั้งที่กัญชา มีส่วนดีผสมอยู่มาก โดยเฉพาะสารสกัด THC, CBD ซึ่งมีอยู่ในกัญชงเช่นกัน หน้าที่คือต้องเอาส่วนดีมาก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ทั้งในเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจ

สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันแนวคิด ล่าสุด กฎกระทรวงเกี่ยวกับการคลายล็อกกัญชง น่าจะประกาศใช้ได้ทันปีนี้ ขณะที่ พ.ร.บ.คลายล็อกกัญชา หรือการให้ประชาชนได้ปลูก เมื่อมีผู้รับซื้อ และเป็นไปตามกฎหมาย ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเข้าสู่ชั้นพิจารณาในสภาต่อไป นัยยะของการผ่านคณะรัฐมนตรีคือ ใน ครม.มีรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคร่วมหลายพรรค ดังนั้น หวังว่าเมื่อเข้าสภาแล้ว ส.ส.ของพรรคร่วม จะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามระหว่างรอกฎหมายผ่านตามขั้นตอน กรมการแพทย์แผนไทย ได้นำร่องการใช้กัญชา เพื่อการแพทย์ไปแล้ว ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เปิดทางให้นำสารสกัดกัญชาไปใช้ในคลินิกกัญชา ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ การจ่ายยา การรักษา เป็นไปภายใต้การดูแลจากแพทย์ที่ผ่านการอบรมมา

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณองค์การเภสัชกรรมที่ร่วมแรงร่วมใจ ทำนโยบายจนเกิดความคืบหน้า สำหรับนโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายสำคัญเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการที่ จ.ชลบุรี นั้น  เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นการปลูกระดับกึ่งอุตสาหกรรม ใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก

ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย จะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้ง CBD เด่น THC เด่น CBD : THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย ดำเนินการปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) 3 ระบบ ได้แก่

ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ (Pad and fan) จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น

ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ( Hybrid air conditioner and dehumidifier, HAC) 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้ดี รวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด botrytis และราแป้ง

โดยระบบ HAC มีการทำงานผสมผสานระหว่าง compressor ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้ง air conditioner อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19 % เมื่อเทียบกับการติดตั้ง air conditioner และระบบควบคุมความชื้น (Dehumidifier) ที่เหมาะสม

จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ

ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ (Open air) จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิด มีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่

เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย  นอกจากนั้นยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้ง(Outdoor) เพื่อศึกษา วิจัยพัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่บริเวณเดียวกัน

การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย

และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น              

อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป