“อนุทิน” มั่นใจผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนทันตามแผนเดือนก.พ.นี้ ลั่น! ไม่ได้ผูกขาดผู้ผลิตเจ้าเดียว

  • ขอให้คนไทยเชื่อมั่นในทีมประเทศไท ดีกว่าการคอยแต่วิพากษ์วิจารณ์
  • ภาพรวมคุมโรคโควิด-19 ได้ดี สมุทรสาคร-ตาก-กทม.ยังควบคุมได้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 2/2564 โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม นายอนุทิน กล่าวว่า เรายังมีความหวังที่จะได้วัคซีนโควิด-19ในเดือนก.พ.2564 ซึ่งเป็นไปตามแผนเสริม เพิ่มเติมขึ้นมาจากแผนหลัก โดยล่าสุด ทางผู้ผลิตจากประเทศจีนได้สัญญาว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อส่งวัคซีนให้ไทยตามที่ได้ตกลงกันไว้จำนวน 2 ล้านโดส แบ่งเป็น ส่งมอบในเดือนก.พ. 200,000  โดส และจะตามมาหลังจากนั้นอีก 1.8 ล้านโดส ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ทางโรงงานในไทย สามารถผลิตได้เอง ภายในช่วงกลางปี ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตจากจีนยังกล่าวอีกว่า หากไทยต้องการเพิ่มขึ้น ก็พร้อมดูแลจัดหามา

อย่างไรก็ตามเท่ากับว่า แผนการวัคซีนของไทยนั้น ไม่ได้ให้ผู้ผลิตเจ้าเดียวมาผูกขาด ทั้งนี้สำหรับการขึ้นทะเบียนนั้น ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ผลิต ทางการไทยไม่มีปิดกั้น แต่จะขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ขึ้นกับเงื่อนไขด้วย ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยอมรับกันได้ หากการขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องตามมาด้วยการบังคับซื้อ ประเทศไทย ก็ต้องชะลอไปก่อน ไทยมีอิสระในการตัดสินใจ เช่นเดียวกัน ในเรื่องการจองซื้อวัคซีน ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าซื้อแล้ว ต้องได้วัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด มิใช่ว่าต้องรอถึงปลายปี เป็นต้น

“คิดว่าการจัดหาวัคซีนนั้น มาได้ล่าช้า เบื้องหลังการบริหารจัดการคือคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในคณะกรรมการ ซึ่งระดมสมอง หาทางออกให้ประเทศไทย แน่นอนว่า ส่วนตัวมั่นใจความรู้ ความสามารถของทุกท่าน มั่นใจว่าท่านทำงานหนักมาก และทุกท่านมีความเป็นกลาง คิด และตัดสินใจตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบ ขอให้คนไทยเชื่อมั่นในทีมประเทศไทย ให้กำลังใจกัน ดีกว่าการคอยแต่วิพากษ์วิจารณ์ สร้างความสับสนให้แก่สังคม ทั้งยัง ทำลายขวัญกำลังใจคนทำงาน”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ภาพรวมมีการบริหารจัดการได้ดี ควบคุมโรคได้แล้ว ส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ตาก และกทม. ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่บ้าง อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ อสม. และทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างหนัก ทั้งการลงพื้นที่สอบสวนโรคและควบคุมการระบาด วางแผนการจัดการกับสถานการณ์ระบาด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพียงพอ และ Bubble and Sealed Factory-Accommodation Quarantine ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้อยู่ในพื้นที่ แยกผู้ติดเชื้อออกมารักษา ถือว่าสถานการณ์ควบคุมได้

รวมทั้ง ศบค.ได้ออกประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่ 1 ก.พ. เป็นต้นมา หากการเฝ้าระวังป้องกันโรคพบว่าผู้ติดเชื้อลดลงมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จะได้เสนอมาตรการผ่อนคลายต่อ ศบค.เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ซึ่งทุกภาคส่วนยังต้องเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 พ.ศ.2564 ซึ่งมี 2 ระยะ โดยในระยะแรกที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 รักษาระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้ 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน, ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร, ประชาชนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนทั่วไปและแรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด 19

และระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับ 7 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป, แรงงานในภาคอุตสาหกรรม, ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ, กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก เดือนก.พ.-พ.ค. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก ระยะที่ 2 เดือนมิ.ย.-ธ.ค. 2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง วางแผนฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 63 ล้านโดส ภายในปี 2564