อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันหนักแน่น! ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ตามกลุ่มเป้าหมาย

  • ย้ำหากประชาชนพบข้อมูลสงสัยจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ไม่เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมาย
  • ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง
  • จากนั้นส่งเรื่องมายัง”สาธารณสุข” ซึ่งมีคณะทำงานด้านบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด 19 พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขมีการจัดสรรวัคซีน Pfizer ล็อต 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน ไปยังพื้นที่ต่างๆตามกลุ่มเป้าหมาย กลับพบว่า ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีการจัดสรรวัคซีนให้นอกกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งเป็นสายงาน Back office  ทำหน้าที่ด้านเอกสารได้รับวัคซีนก่อนบุคลากรด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง

 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรคมีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด19 ไฟเซอร์ เป็นไปตามจำนวนที่มีการสำรวจ และจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้  ซึ่งเมื่อจัดส่งให้กับพื้นที่ต่างๆ ต้องดำเนินการตามนโยบายในการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์กับกลุ่มเป้าหมายก่อน  ดังนั้น เมื่อมีข้อร้องเรียนว่า พบการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มนอกเป้าหมาย ที่ไม่ได้กำหนดไว้  ขอให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ไม่ว่าจังหวัดใดก็ตามหากมีเรื่องลักษณะนี้ ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

“เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรวจสอบแล้ว ขอให้รวบรวมข้อมูลส่งเรื่องเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กรณีวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ (Pfizer) จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป  เนื่องจากตามนโยบายการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้ต้องเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด  โดยต้องเน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดก่อน และกลุ่มเสี่ยง” 

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า  สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึงวันที่ 14 ส.ค.2564 เวลา 18.00 น. มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 23,476,869 โดส หากแยกรายละเอียดเข็มที่ 1 จำนวน17,879,206 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ  24.8  ส่วนผู้รับบริการที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีจำนวน  5,073,672 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 7   

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19   2.ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์12 สัปดาห์ขึ้นไป   3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง  4.ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต  เป็นต้น