อคส. จับมือเอกชนพัฒนาห้องเย็นสินค้าประมง-เกษตร



  • ลุยพัฒนาท่าเทียบเรือให้ทันสมัยและเปิดให้เอกชนเช่า 
  • หวังเดินหน้าหารายได้เข้าองค์กรคาดใน 3 ปีมีกำไร 
  • จากปัจจุบันขาดทุนเฉลี่ยปีละ 120-150 ล้านบาท 

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า อคส.ได้ลงนามบันทึกความตกลง(เอ็มโอยู) กับ 4 กลุ่มผู้ประกอบการ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมการประมง บริษัทกลุ่มผู้ค้าสัตว์น้ำปทุมธานี ผู้แทนเรือเดินทะเล และผู้ประกอบการรับฝากสินค้าในห้องเย็น เพื่อพัฒนาห้องเย็นรองรับสินค้าประมง และสินค้าเกษตร รวมถึงจะมีการพัฒนาท่าเทียบเรือราษฎร์บูรณะที่คลังสินค้าราษฎร์บูรณะเพื่อสร้างรายได้เข้า อคส.ให้มากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนหารายได้ให้กับอคส.ในปีนี้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน อคส.มีรายได้จากการให้เช่าคลังสินค้าอยู่ 2 แห่ง คือ คลังห้องเย็นที่ถนนราษฎร์บูรณะ และคลังสินค้า 1 ธนบุรี แต่การใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มที่ จึงต้องพัฒนาและปรับปรุงคลังสินค้าให้ทันสมัย นำเครื่องจักรมาใช้งานมากขึ้นเพื่อให้ใช้งานได้เต็มศักยภาพและเก็บค่าเช่าได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแผนจะขุดลอกพื้นที่บริเวณหน้าท่าเรือ เพื่อให้เรือเข้ามาจอดขนถ่ายสินค้าได้มากขึ้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับปรับปรุง 72 ล้านบาท  

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ ที่ออกตามฤดูกาลผ่านทางร้านธงฟ้า โมเดินเทรด และทางออนไลน์ ส่วนการหาตลาดต่างประเทศ ได้ประสานกรมการค้าต่างประเทศเพื่อส่งออกสินค้าเกษตร คาดว่า ภายใน 3 ปี จะมีผลประกอบการกลับมามีกำไรได้ จากที่ผ่านมา อคส.ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 120-150 ล้านบาท  

“ในปี 64 คาดว่า อคส.จะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ขายอาหารให้กับเรือนจำ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการขายสินค้าเกษตรและการให้เช่าคลังสินค้า ส่วนการลงทุนใหม่ ยอมรับว่า การทุจริตซื้อถุงมือยาง มีผลต่อการลงทุนใหม่ เพราะมีการนำเงินของอคส. 2,000 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่ามัดจำถุงมือยาง ทำให้เงินสะสมหายไป 2,000 ล้าน ซึ่ง อคส.จะตามเงินที่หายไปพร้อมดอกเบี้ยมาคืน อคส.จนครบ อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางอื่นๆ ให้ อคส.หาเงินมาใช้ได้ เช่น งบประมาณ หรือเงินสะสมของ อคส.ที่เหลืออีกกว่า 1,000 ล้านบาท”  

ด้านนายประมวล รักใจ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่า คลังสินค้าราษฎร์บูรณะของ อคส.มีศักยภาพรองรับสินค้าประมงและสินค้าเกษตรได้ และถือเป็น 1 ใน 22 ท่าเทียบเรือ ที่เรือขนส่งสินค้าประเภทสัตว์น้ำ มาเข้าที่ท่าเทียบเรือ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการนำเข้าปลาทูน่าจากต่างประเทศมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือของคลังสินค้านี้ 10-12 % ของการนำเข้าปลาทูน่าทั้งหมดของไทยราว 800,000 ตัน หากโครงการทำห้องเย็นเสร็จสิ้นก็จะทำให้อคส.มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก