หลากหลายเรื่องราว รวมเป็นหนึ่งที่ WWDC

Erika Hairston เขียนแอพ Zimela ของเธอในเวลาว่าง เธอเขียนโค้ดทุกที่ทุกเวลาเมื่อมีโอกาส

ในวันที่ 3 มิถุนายน ผู้คนกว่า 5,000 คนจาก 86 ประเทศจะมารวมตัวกันที่ซาน โฮเซ เพื่อร่วมงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) ประจำปี 2019 ของ Apple หนึ่งในนั้นได้แก่ผู้ที่จะมาร่วมงานเป็นครั้งแรกอย่าง Erika Hairston และ David Niemeijer ที่จะมาเข้าร่วมงานเป็นปีที่ 17 ติดต่อกัน Hairston บัณฑิตจาก Yale วัย 23 ปีซึ่งกำลังทำงานอยู่ในซานฟรานซิสโกเพิ่งจะเปิดตัวแอพ Zimela เมื่อไม่นานมานี้ นี่คือแอพแรกของเธอที่ช่วยส่งเสริมเรื่องความหลากหลายในวงการเทคโนโลยี Niemeijer คุณพ่อลูกสองวัย 50 ปี ชาวอัมสเตอร์ดัมเป็น CEO ของ AssistiveWare บริษัทรับออกแบบอุปกรณ์ช่วยสื่อสารสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ เขาก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นด้วยตนเองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้ว่าทั้งสองคนจะอยู่บนเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง Hairston และ Niemeije ก็มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง ทั้งคู่ได้รับแรงบันดาลใจจากคนที่พวกเขารัก จากนั้นก็เริ่มลงมือทำให้โซลูชั่นที่คิดไว้กลายเป็นจริงขึ้นมา ทั้งคู่เริ่มต้นจากการทำงานคนเดียว พวกเขามักจะเขียนโค้ดในเวลาว่างทุกครั้งที่มีโอกาส และทั้งคู่ก็เริ่มเข้าหาชุมชนและสร้างพลังให้แก่คนอื่นๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้คนได้ค้นพบเสียงของตนเองและผู้อื่น

แอพ Zimela สร้างเครือข่ายสำหรับผู้ให้คำปรึกษาและผู้ที่ต้องการคำปรึกษาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้ค้นพบความฝันของตนเอง

สองวันก่อนคริสต์มาสเมื่อปี 1995 Giesbert Nijhuis เพื่อสนิทของ David Niemeije ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป Nijhuis ซึ่งอายุ 26 ปีในตอนนั้น เคยทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบและช่างภาพ แต่หลังจากประสบอุบัติเหตุ เขาก็ไม่คิดว่าตนเองจะกลับไปประกอบอาชีพเดิมได้อีก Niemeijer อยากช่วยให้เพื่อนมีอิสระอีกครั้ง เขาจึงออกแบบคีย์บอร์ดแบบเสมือนจริงที่สามารถเลือกควบคุมด้วยเมาส์ได้ และนั่นก็กลายเป็นคีย์บอร์ดที่ Nijhuis ใช้งานมาโดยตลอดหลังจากประสบอุบัติเหตุ โดยใช้การขยับศีรษะเพื่อควบคุม ในช่วงปีแรกๆ Nijhuis จะคอยให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งาน “David รับฟังทุกอย่างและก็นำไปพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ” Nijhuis กล่าว “ไม่นาน เขาก็ทำมันได้ดีกว่าซอฟต์แวร์ที่มีขายเสียอีก”

David Niemeijer เกิดแรงบันดาลใจในการสร้าง AssistiveWare เมื่อเพื่อนของเขา Giesbert Nijhuis ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
Giesbert Nijhuis ใช้เทคโนโลยี AssistiveWare เพื่อทำงานจากบ้านของเขาในอัมสเตอร์ดัม

คีย์บอร์ดแบบเสมือนจริงของ Niemeijer ที่เกิดจากการเขียนโค้ดในเวลาว่างตอนอยู่อพาร์ตเมนต์ได้กลายมาเป็นโปรแกรม KeyStrokes และในเวลาเพียงสองสามปี เขาก็สามารถลาออกจากงานด้านวิชาการเพื่อมาเขียนโปรแกรมต่อแบบเต็มเวลาได้ ตอนที่ Niemeijer ก่อตั้ง AssistiveWare ขึ้นมา Nijhuis ได้ใช้ KeyStrokes ในการออกแบบโลโก้ของบริษัทให้

“รู้สึกได้เลยว่าทุกคนผูกพันกันมากๆ แม้ว่าแต่ละคนจะมาจากต่างที่และทำงานอยู่คนละวงการกัน”

ในปี 2001 ผู้ใช้ KeyStrokes รายหนึ่งเขียนจดหมายถึง Steve Jobs ในจดหมายฉบับดังกล่าว เขาถามว่า Apple จะช่วยทำให้คีย์บอร์ดแบบเสมือนจริงของ Niemeijer ใช้งานร่วมกับ Mac OS X ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ได้หรือไม่ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เกือบสองทศวรรษระหว่าง Apple และ AssistiveWare ซึ่งในขณะนั้นได้เติบโตจากบริษัทของชายคนเดียวไปสู่ผู้ให้บริการแอพด้านเทคโนโลยีการช่วยการเข้าถึงชั้นนำระดับโลกสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร

Giesbert Nijhuis ใช้โปรแกรม KeyStrokes ในการออกแบบโลโก้ของ AssistiveWare ที่มีรูปซาลาแมนเดอร์

“ทุกๆ วัน เราจะได้ฟังผู้คนเล่าว่า [ผลิตภัณฑ์ของเรา] เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง” Niemeijer กล่าว “มีทั้งเรื่องเกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของเราและสามารถออกจากบ้านและพูดคุยกับคนอื่นได้ทันที หรือครอบครัวที่เข้าใจความคิดของลูกได้ และในที่สุดก็เข้าใจว่าจริงๆ แล้วลูกของพวกเขาเป็นคนอย่างไร ทั้งหมดนั้นสำคัญมากๆ” แม้ว่าหลายสิ่งหลายหลายอย่างจะเปลี่ยนไปตั้งแต่ Niemeijer เข้าร่วม WWDC เป็นครั้งแรกในปี 2003 แต่สิ่งหนึ่งที่เขาบอกว่ายังคงเดิมอยู่เสมอ นั่นก็คือความรู้สึกผูกพัน “รู้สึกได้เลยว่าทุกคนผูกพันกันมากๆ แม้ว่าแต่ละคนจะมาจากต่างที่และทำงานอยู่คนละวงการกัน”

AssistiveWare กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ออฟฟิศในอัมสเตอร์ดัม

Erika Hairston เป็นน้องสาวคนเล็กสุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมดห้าคน รวมถึง Kimmy ซึ่งเป็นพี่สาวบุญธรรม เมื่อ Kimmy สมัครและได้รับเลือกให้เข้าร่วมโปรแกรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีรายได้น้อยได้รู้จักโรงเรียนมัธยมปลายสำหรับสังคมชั้นสูง Erika กล่าวว่าสิ่งนี้ได้เปิดโลกกว้างให้กับเธอเช่นกัน “เธอช่วยสร้างแรงบันดาลใจและชี้ทางให้ฉันมีความฝันที่ยิ่งใหญ่” Hairston กล่าว “Zimela เกิดขึ้นจากไอเดียที่ว่าทุกคนควรมี Kimmy เป็นของตนเอง หรือก็คือผู้ให้คำปรึกษาและบุคคลต้นแบบที่ช่วยให้พวกเขาเห็นว่ามีอะไรที่เป็นไปได้อีกบ้าง และทุกคนควรได้รับโอกาสที่ช่วยพาพวกเขาไปสู่จุดที่ต้องการได้”

ฃErika Hairston พูดคุยกับ Kimmy พี่สาวของเธอผ่าน FaceTime

Hairston ออกแบบแอพ Zimela ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่ได้รับโอกาสทางสังคมให้สามารถเข้าสู่วงการเทคโนโลยีได้โดยมีที่ปรึกษาคอยแนะนำ และทำให้ผู้ใช้ตระหนักถึงโอกาสด้านอาชีพ เช่น การฝึกงาน เธอสร้างแอพนี้ระหว่างเรียนอยู่ชั้นปีสุดท้ายที่ Yale และนำชื่อมาจากภาพยนตร์ “Black Panther” ซึ่ง Zimela เป็นคำแปลจากภาษา Xhosa แปลว่าการเป็นตัวแทน

หลังจาก Hairston สำเร็จการศึกษาในปีสุดท้าย เธอย้ายไปยังซานฟรานซิสโกเพื่อทำงานประจำที่ซิลิคอนวัลเลย์ เมื่อมีเวลาว่าง เธอจะเขียนโค้ดในห้องนอนของเธอ ในบ้านของแฟนที่โอ๊คแลนด์ หรือที่ใดก็ตามที่เธอสามารถใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อเตรียมแอพ Zimela ให้พร้อมสำหรับการเปิดตัวบน App Store ได้

เธอเพิ่งผ่านการเข้าร่วม Apple Entrepreneur Camp และกำลังจะเข้าร่วมงาน WWDC เป็นครั้งแรก เธอกล่าวว่าทั้งสองงานนี้เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของโอกาสที่เธอหมายถึง โอกาสที่เธออยากให้คนอื่นๆ ได้ค้นพบผ่าน Zimela เธอตื่นเต้นที่จะได้เข้าร่วมงาน WWDC และดูว่าสิ่งนี้จะทำให้แอพและอนาคตของเธอเปลี่ยนไปอย่างไร

Erika Hairston เพิ่งผ่านการเข้าร่วม Apple Entrepreneur Camp

“การที่เราได้เปิดตัวพร้อมกันบน App Store ฉันคิดว่ามันเป็นโชคชะตา” เธอกล่าว “ทุกครั้งที่มีงาน [WWDC] ฉันรู้สึกว่าโลกใบนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และโอกาสที่ผู้คนจะประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ” นี่คือสองเรื่องราวจากอีกหลายหมื่นเรื่องที่ทำให้เกิดงาน Worldwide Developer Conference ของ Apple มาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว งานที่เป็นการรวมพลของคนที่มีความฝันและยึดโยงอยู่ด้วยความเชื่อเดียวกัน ความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีมีพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้