

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ภายในงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19” กับ 3 สถาบันแพทย์ ที่โรงแรมสุโกศล
สำหรับงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19” วัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมไทย ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อมูลล่าสุด สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้ว 1,200 ล้านโดสทั่วโลก ดังนั้นต้องให้คนไทยเข้าใจและรู้จริง เพื่อใช้พิจารณาตัดสินใจร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400 รายทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย และมีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงประมาณ 25%
“ขณะนี้โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช เปิดเตียงไอซียูเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ปรับให้หอผู้ป่วยธรรมดาสามารถดูแลผู้ป่วยหนัก เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้เต็มไม้เต็มมือแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกัน ผู้ป่วยล้นไม้ล้นมือเมื่อไร อัตราการเสียชีวิตก็จะกระโดดมากขึ้น อย่างที่ย้ำเสมอว่า หากต้นน้ำยังขุ่น ปลายน้ำก็ขุ่น หากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ยังขุ่น แม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักก็ขุ่น แล้วจะเอาสายส้มไปแกว่งก็ยาก ดังนั้น เราต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ให้ขุ่น เพื่อไม่ให้ปลายน้ำขุ่น” ศ.นพ.ประสิทธ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การระบาดที่ผ่านมา จะมีตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ร้อยละ 80 คนมีอาการมาก 20% และในจำนวนนี้มี 5% ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ล่าสุดตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง โดยคนที่ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย 70% อาการหนักเพิ่มเป็น 25-30%
“โดย ร้อยละ 5 คือหนักมาก แปลว่าเมื่อเราเรามีผู้ป่วย 100 ราย เราจะมีคนอาการหนัก 30 ราย ถ้าเรามีผู้ป่วย 1,000 ราย ก็จะมีอาการหนัก 300 ราย และถ้ามีหลัก 10,000 ราย เราจะมีคนอาการหนักกว่า 3,000 ราย”
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า ในสังคมขณะนี้เจอเฟกนิวส์ (Fake News) เยอะมาก เราอยากให้ประชาชนฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญที่คอยติดตามงานทั่วโลก และมีประสบการณ์เรื่องของวัคซีนมานาน อยากเป็นที่พึ่งให้สังคมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นการช่วยเหลือสังคมเพื่อยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19
“ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มีผู้ป่วยรวม 140 ราย เป็นผู้ที่มีอาการหนัก 32 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 ราย โดยเราเช่าโรงแรม 2 แห่ง ทำเป็นฮอสปิเทล(Hospitel) และมีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เรามีผู้ป่วยอาการหนักเยอะขึ้น และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกวัน แต่สถานการณ์ติดเชื้อรุนแรงก็ยังอยู่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร”