หมอศิริราช ชี้ โควิดสายพันธุ์บราซิลน่ากลัวสุด! ห่วงไทยป่วยใหม่ไม่ลดเสี่ยงวิกฤติ-กลายพันธุ์



  • ระบุหากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันแย่แน่
  • ทั้งขาดแคลนบุคลากรแพทย์-อุปกรณ์-เวชภัณฑ์
  • ระบุสงกรานต์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนชัดกับการปล่อยปละก่อให้เกิดความเสี่ยง

วันที่ 27 เม.ย.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อัพเดตสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Mahidol และ เฟซบุ๊ก Siriraj ว่า ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่สำคัญคือ B1.1.7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมจะพบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และจากเดิมพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เข้ามาไทยแล้ว ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา B 1.351 พบว่าแพร่กระจายเร็ว แต่ข้อมูลล่าสุดไม่เพิ่มความรุนแรง และยังพบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ทั้งแอสตราฯ และไฟเซอร์ครอบคลุมสายพันธุ์นี้ในสัดส่วนค่อนข้างดี

ส่วนสายพันธุ์บราซิล P.1 พบครั้งแรกม.ค.64 และพบได้ในญี่ปุ่น ซึ่งแพร่กระจายเร็ว และมีหลักฐานว่าเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสายพันธุ์อื่นไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่มีหลักฐาน นอกจากนี้ ในสหรัฐฯมีสายพันธุ์ B.1427 และ B. 1.429 พบที่สหรัฐ อาจสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดเร็ว ส่วนอินเดีย B.1.617 พบในอินเดียยังต้องศึกษา เพราะรายละเอียดยังน้อย

รวมทั้งยังกล่าวว่า สายพันธุ์บราซิล P.1 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็ว และขณะนี้แพร่กระจายไปหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร โดยปลายเดือน มี.ค. ตรวจพบสายพันธุ์ P.1 ที่สหรัฐฯ และพบว่าภายใน 7 สัปดาห์สายพันธุ์ P.1 กลายเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 87% ที่ระบาดในบราซิล ซึ่งสายพันธุ์นี้เชื่อว่า รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังในไทยคือ การกลายพันธุ์โควิด19 ซึ่งเข้ามาในไทยแล้วคือ สายพันธุ์อังกฤษ และรอบนี้มีผู้ป่วยหนักชัดเจน เช่น ศิริราชคนไข้ที่เข้ามา 1 ใน 4 มีภาวะปอดอักเสบ และจำนวนคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนและเกิดแบบนี้ทั่วประเทศ พบคนไข้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1 ใน 4 ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น อัตราเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น คาดการณ์ได้เลยว่า เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยหนักแบบนี้จะเจอผู้เสียชีวิตตัวเลข 2 หลัก ซึ่งสัมพันธ์กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และรอบนี้จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตมีอายุน้อยลง อายุเฉลี่ย 20-30 ปี จึงอย่าคิดว่า อายุไม่มากไม่เสียชีวิต และคนป่วยอาการหนักเสียชีวิตใช้เวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น

นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ที่สำคัญคือเมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักเพิ่มทำให้ความต้องการใช้ไอซียูเพิ่มมากขึ้น จนอาจเกิดเหตุการณ์เตียงไอซียูไม่เพียงพอความต้องการ ซึ่งขณะนี้ได้พยายามขยายเตียงเต็มที่ แต่คนที่จะมาดูแลไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เวลาอันสั้น เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อย่างฟาวิพิราเวียร์ ต้องให้เร็วทันที ซึ่งมีการใช้ยาเพิ่มขึ้นทั่วโลกก็เกิดการแย่งสั่งซื้อ หรือคุมการจำหน่ายของประเทศผู้ผลิต ยาบางตัวที่อินเดียผลิตเก็บไว้ใช้ในประเทศตัวเองแล้ว ทรัพยากรไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างเครื่องช่วยหายใจสำหรับรายที่หนักมากๆ จะอยู่ในช่วงขาดแคลนได้

ทั้งนี้ ทุกคนต้องช่วยกันคุมโรคที่ต้นน้ำ โดยลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นทรัพยากรจะไม่เพียงพอ จำนวนผู้ป่วยจะลดได้ต้องช่วยกันทั้งประเทศ ซึ่งต้องอาศัยจิตสำนึก ความรับผิดชอบ วินัย รวมทั้งต้องระวัง การลักลอบข้ามแดน เพราะอาจนำสายพันธุ์กลายพันธ์เข้ามาได้

“วัคซีนยิ่งฉีดได้เร็วและฉีดได้มากเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด ไม่ว่ายี่ห้อไหนรวมทั้งของไทยมีความปลอดภัย ส่วนผลอาการไม่พึงประสงค์ มีน้อยราย ซึ่งประโยชน์มีมากกว่า ยิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัย ซึ่ง 4 ความเสี่ยงที่น่ากังวลคือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ช่วงเวลาเสี่ยง ซึ่งสงกรานต์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัด เป็นบทเรียนที่อย่าทำซ้ำ ทั้งนี้ ให้ช่วยกันหยุดโควิด ไม่อยู่กันใกล้ชิด ร่วมใช้สิทธิฉีดวัคซีน”