“หมอธีระ” ลั่นโควิดไม่ได้จบแค่หายกับตาย มอง Long COVID เป็นปัญหาระยะยาว

  • เผยข้อมูลอัตราผู้ติดเชื้อเสียชีวิตส่วนเกินรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
  • ชี้ในช่วงนี้ จำนวนการเสียชีวิตรายวันจากโควิดของไทย ติดอันดับต้นๆของโลก
  • สะท้อนย้ำเตือนให้เห็นว่า “สายพันธุ์โอมิครอน” ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่กระจอก

วันนี้ (19 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านเฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat โดยมีเนื้อหาดังนี้…

19 เมษายน 2565

ทะลุ 505 ล้านคนไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 309,097 คน ตายเพิ่ม 1,220 คน รวมแล้วติดไปรวม 505,019,710 คน เสียชีวิตรวม6,224,361 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.59 ของทั้งโลกในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.63

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 47.52 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.16

…สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 25.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…การเสียชีวิตของคนไทย

จะพบว่าในช่วงนี้จำนวนการเสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 ของไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด

การติดตามสถานการณ์นั้น ตัวเลขรายงานทางการจากโควิด-19 เป็นเพียงข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งในการประเมินสถานการณ์

แต่ยังควรดูข้อมูลอื่นประกอบด้วย เพราะทั่วโลกพบว่ามักมีปัญหาเรื่องจำนวนที่รายงานทางการในระบบนั้นต่ำกว่าสถานการณ์จริงด้วยข้อจำกัดต่างๆ

ลองเปรียบเทียบดู อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินของแต่ละปีจากทุกสาเหตุในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาจะพบว่า ตั้งแต่ระลอกที่สอง (สายพันธุ์ D614G ช่วงปลายปี 2563 ถึงไตรมาสแรกของ 2564) ระลอกที่สาม (สายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ตั้งแต่เมษายนจนถึงราวพฤศจิกายน 2564) และระลอกที่สี่ (สายพันธุ์ Omicron BA.1, BA.2 ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน) ไทยเรามีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าการระบาด (excess mortality rate) ในระดับสูงกว่าหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้หากดูจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess mortality) เฉพาะของประเทศไทย เปรียบเทียบในแต่ละเดือนของแต่ละปี ก็ยังพบว่าสถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในไตรมาสแรกของปี2022 นี้ ทุกเดือนที่ผ่านมามีจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ข้อมูลข้างต้นย้ำเตือนให้เราเห็นว่า Omicron นั้นไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่กระจอก แม้จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าในระลอกสามของปีที่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของ Omicron ที่รวดเร็วกว่าเดลต้าอย่างมากนั้นทำให้สุดท้ายแล้วมีจำนวนคนติดเชื้อมากกว่าเดลต้า และทำให้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากได้เช่นกัน ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน

“จะผลักเป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็ว จะผลักให้ใช้ชีวิตตามปกติในอดีต หรือจะตีฆ้องร้องป่าว ประชาสัมพันธ์ให้คนมองไวรัสนี้ว่ากระจอก”…เหล่านี้ หากหลงเชื่อ ก็เหมือนเดินไปตกเหวตายครับ

เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ…ทำในสิ่งที่ควรทำ และใช้ความรู้ที่ถูกต้องนำทางการตัดสินใจ

โควิด…ติด…ไม่ใช่แค่คุณ

โควิด…ไม่ได้จบแค่หายกับตาย แต่ Long COVID จะเป็นปัญหาระยะยาวทั้งสำหรับตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

ใส่หน้ากากเสมอนะครับ นี่คือหัวใจสำคัญที่สุด เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง