หน้าทีมเศรษฐกิจ ปชป. ลั่นถึงเวลาผุดคอนเทนท์เอกลักษณ์ไทย “อาหาร-สถานที่ท่องเที่ยว-สินค้าเกษตร-สมุนไพร” โปรโมทผ่าน Metaverse



  • เผยช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัททั่วโลกปรับตัวเข้าสู่ Metaverse มากขึ้น
  • ชี้ ปชป.พยายามดันยุทธศาสตร์ “คอนเทนท์สร้างชาติ” หนุนคอนเทนท์เอกลักษณ์ของความเป็นไทย
  • แนะภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามาใช้ศักยภาพในโลก Metaverse
  • แนะไทยอาจเริ่มต้นจากสถาบันการเงิน ที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี นำบริษัทสตาร์ทอัพมาเป็นบริษัทในเครือ

วันนี้ (4 มี.ค.65) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Metaverse Thailand หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ SPECIAL FORUM METAVERSE โลกเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกใบใหม่นี้? ในหัวข้อ “เมืองไทยพร้อมแค่ไหนในจักรวาลนฤมิต” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัททั่วโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ Metaverse มากขึ้น ยกตัวอย่าง Facebook ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta หรือบริษัทอื่นๆ ทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิง เกม กีฬา อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการศึกษาก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่โลกMetaverse เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต และหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ พยายามผลักดันยุทธศาสตร์ “คอนเทนท์สร้างชาติ” สนับสนุนคอนเทนท์ที่มาจากเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งถ้านำยุทธ์ศาสตร์ดังกล่าวมาปรับใช้กับโลก Metaverse จะสามารถสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับคนไทยได้อย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาใช้ศักยภาพในโลก Metaverse ได้อย่างเต็มที่ และต้องมีข้อกำหนดที่เหมาะสมเพื่อจัดการด้านศีลธรรมและธรรมาภิบาลด้วย

“หากเรานำเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าเกษตร สมุนไพร ศิลปะวัฒนธรรมเพลง ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ มาโปรโมทผ่านทาง Metaverse นำความสวยงามต่าง ๆ มานำเสนอในโลกเสมือนจริงนี้ได้ ชาวต่างชาติก็จะได้เห็นภาพตัวอย่างก่อน ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ยิ่งไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้าน Medical Tourism อยู่แล้ว รวมถึงมีดีทั้งด้านการท่องเที่ยว โรงแรม การรักษาพยาบาล ทั้งนี้หากคนไทยไม่ปรับตัวเข้าสู่โลกเสมือนจริงนี้ ไทยเราก็จะเสียโอกาสอย่างมหาศาล” นายปริญญ์ กล่าว

ด้านนายปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย หรือกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนได้เข้าสู่โลกดิจิทัลไปแล้ว อย่างที่ผ่านมาหากมีนโยบาย Work from Home ก็สามารถทำงานออนไลน์ได้จากทุกพื้นที่ ดังนั้นในอนาคตโลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse จะค่อยๆ เติบโตและเข้ามามีผลต่อการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่อง Knowledge หรือ การศึกษาและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่น้อยเกินไป นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่โลก Metaverse

“ประเทศไทยลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปพอสมควร ทั้งเครือข่าย 5G หรือ Broadband Technology ส่วนเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการเงินก็ไม่น้อยหน้าใคร เรามีอัตราการใช้ Cryptocurrency สูงที่สุดในโลก แต่ส่วนที่วิกฤตคือเราขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยต้องการบุคลากรด้านไอทีปีละประมาณ 1 แสนคน แต่ภาครัฐผลิตเด็กจบใหม่ด้านนี้ได้แค่ปีละ 20,000 กว่าคน ซึ่งตัวแปรสำคัญมาจากการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่น้อยเกินไป ส่งผลให้คนไทยมีความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีค่อนข้างยาก” นายปฐม กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคธุรกิจที่จะเดินหน้าเข้าสู่โลกเสมือนจริงนี้ ควรมองภาพในเชิงระบบนิเวศทางธุรกิจ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ถ้าหลายองค์กรมารวมตัวกันจะสามารถดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่ใน Ecosystem ได้ง่ายขึ้นและสามารถขยายโลก Metaverse ได้รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่างคือ ประเทศไทยอาจเริ่มต้นจากสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว อาจจะนำบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเข้าไปเป็นบริษัทในเครือ เพื่อสร้างEcosystem ที่แข็งแกร่งได้