“สุริยะ”ตั้งวอร์รูมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ฯด่วน 



  • พร้อมช่วยเหลือ301โรงงานรอบๆพื้นที่
  • เร่งตรวจสอบโรงงานเสี่ยงภัยทั่วประเทศ
  • กรอ.ประเมินค่าเสียหาย700 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟม มีกำลังผลิต ณ ปัจจุบัน 80,000 ตันต่อปี ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง โดยได้สั่งการตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุให้ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าโรงงานประเภทดังกล่าว มีในประเทศไทยกี่แห่ง และให้เร่งป้องกัน รวมทั้งการอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายต่อไปต้องเข้มงวดมากขึ้น จากการตรวจสอบพบว่าทั่วประเทศมีโรงงานที่มีการผลิตลักษณะเดียวกัน 2 แห่งนอกจากหมิงต้าฯแล้วก็มีโรงงานไออาร์พีซี จำกัด ที่จังหวัดระยอง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532

ล่าสุด ตนได้สั่งการให้มีการจัดต้ังวอร์รูม ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยวอร์รูมจะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ท่ีมีการแจ้งเก็บสารในลักษณะดังกล่าวว่าในประเทศไทย มีจำนวนกี่แห่ง และมีปริมาณจัดเก็บเท่าใด ตรงตามที่ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)หรือไม่ ,ช่วยดูแลผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมท่ีอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุในรัศมี5กิโลเมตร ที่ขณะนี้มีรวม 301 แห่ง ว่าประสบความเดือดร้อน และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งหลังการเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของกรอ.ได้เข้าไปประสานการอพยพของผู้ประกอบการ คนงานในโรงงาน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว

  • กรอ.เตือนสูดดมกลิ่นนานๆเสี่ยงมะเร็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ในคร้ังนี้ มีการก่อสร้างและเปิดกิจการเมื่อปี2532 ซึ่งสามารถดำเนินการได้เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฏหมายผังเมือง มาควบคุมการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว และตัวโรงงานในขณะนี้ต้ังกิจการอยู่ห่างไกลพื้นที่ชุมชน แต่ในปัจจุบันนี้ยอมรับว่าสภาพชุมชนได้เปล่ียนแปลงไปมีบ้านเรือนของประชาชน ตลอดจนมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆเกิดขึ้นมารายรอบเต็มพื้นที่

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่าโรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก และกรอ.ได้เข้าไปช่วยเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัย ให้ห่างจากพื้นที่ที่สามารถติดไฟ พร้อมกับล้างสารเคมีที่เหลือด้วยน้ำปริมาณมากๆ ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) เป็นสารตั้งต้นผลิตโฟม ก็มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ส่วนสารพอลิสไตรีน เมื่อถูกความร้อนสูง จะให้สาร 2 ชนิดคือ สไตรีน (Styrene) และเบนซีน (Benzene) โดยเบนซีนเป็นสารพิษอันตราย มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาการของผู้ที่ได้รับเบนซีน เมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูงและเป็นเวลานาน คือในระยะแรกๆ จะเกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ ใจสั่น เมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) ได้ ท้ังนี้ กรอ. มูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงงานประเภทนี้ จะต้องมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(อีเอชไอเอ) จึงจะสามารถก่อสร้างโรงงานได้