“สุรพงษ์” สั่งนำร่องฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงภายในสิ้นปีนี้ 3 เส้นทาง

“สุรพงษ์” สั่งนำร่องฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงภายในสิ้นปีนี้ 3 เส้นทาง อำนวยความสะดวกผู้โดยสารเข้าถึงสถานีหลังผู้ใช้บริการเพิ่มต่อเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายและตรวจเยี่ยม บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ว่า ได้เดินทางมาเพื่อรับฟังปัญหาของหน่วยงาน และการบริหารงาน ซึ่ง รฟฟท.ได้รายงายงานผลการดำเนินงานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พบว่าผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มไปให้ทางที่ดี ทั้งนี้ เป็นการช่วยลดภาระประชาชนในการเดินทาง ดังนั้นจึงได้มอบให้ รฟฟท. , การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมกันพัฒนาระบบฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าทุกสายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารเดินทางเชื่อมทุกโหมด โดยจะยึดระบบรางเป็นหลัก ให้ระบบฟีดเดอร์มารับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบราง หรือ รางเชื่อมล้อขนส่งผู้โดยสารไปสู่ปลายทาง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ต้นทุนการเดินทาง  

“ซึ่งการมอบการบ้านนี้ให้ ขร.  และ ขนส่งทางบก ไปพัฒนาระบบฟีดเดอร์ที่รองรับการเข้าถึงอาคารสถานีรถไฟฟ้าทุกสายให้มีประสิทธิภาพ ไม่เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้ใช้การโยสารทางรางเป็นหลัก และปรับบทบาทการขนส่งทางล้อเป็นฟีดเดอร์รับผู้โดยสารสู่ระบบรางไปถึงปลายทาง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางและการขนส่งถูกลง“นายสุรพงษ์ กล่าว

นอกจากนั้น ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ยังได้มอบหมายให้ขร.และขบ.ไปจัดทำตัวเลข รวมถึงศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการรถรับจ้างอยู่แล้ว เช่น รถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น โดยจำลองสถานการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบด้วยบวกและลบอะไรบ้าง เพราะทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้นจะมีวิธีดึงคนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมงานและร่วมกิจกรรมได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ต่างคนต่างอยู่รอด เพื่อจัดโครงการนำร่องฟีดเดอร์เส้นทางเชื่อมต่อสถานศึกษาหรือชุมชนขนาดใหญ่ 3-4 เส้นทางภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 67 

ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  รฟฟท. กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังโครงการรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย พบว่า ในช่วงวันธรรมดา ( WeeKday) ก่อนโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 24,945 คนต่อวัน และหลังโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 27,941 คนต่อวัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 12.01% และในช่วงวันหยุด( Weekend) ก่อนโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 16,002 คนต่อวัน และหลังโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 19,925 คน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 24.52% ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุด(New Hing) หลังใช้นโยบาย คือวันที่ 20 ต.ค.66 จำนวน 31,320 คนต่อวัน

ในส่วนของรายได้จากการใช้บริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ก่อนมีโครงการฯ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 700,000 บาทต่อวัน แต้พอมีโครงการ 20บาทตลอดสาย พบว่าในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่ารถไฟฟ้าสายสีแดง มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 500,000 บาทต่อวันเท่านั้น  อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในอนาคตมีแนวโน้มว่า จำนวนผู้โดยสารจะมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงคาดว่ารายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนนายพิเชฐ คุณาธรรมารักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวว่า เบื้องต้นระบบฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟฟท. ที่ได้ทดลองดำเนินการไปแล้วในเส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต-สถานีหลักหก พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการจากประมาณ 1,000 คนต่อวันก่อนมีโครงการ 20 บาทตลอดสาย เพิ่มเป็นประมาณ 1,500 คนต่อวันหลังมีโครงการฯ ทั้งนี้ในเส้นทางอื่นที่น่าจะสามารถทำเป็นโครงการนำร่องได้ภายในสิ้นปี 66 จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต-สถานีรังสิต 2.เส้นทางตลิ่งชัน-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 3.เส้นทางมหาวิทยาลัยมหิดล-ศาลายา ซึ่งในการดำเนินงานนั้นจะไม่ให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตของรถรับจ้างที่มีอยู่เดิม โดย ขร.และขบ.จะวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปความชัดเจนโดยเร็วต่อไป