“สุพัฒนพงษ์” ลั่นรัฐยังไม่ทบทวนปมต่างชาติซื้อที่ดินในไทย ตอบสวนไม่ได้ขายชาติ เหตุมีกฎหมายทำใาตั้งแต่ปี 42 แล้ว



  • เผยปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ จะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้ โดยทดลองนำร่องไปก่อน
  • ชี้ประเทศอื่นก็ซื้อ-ครอบครองกันได้ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป
  • โวระเบียบยุคนี้เข้ม! เหนือกว่าในอดีต และชาติอื่น ที่เปิดให้ครอบครองแบบเดียวกัน

วันนี้ (3 พ.ย.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงานเปิดเผยถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ การให้ต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย โดยถูกวิจารณ์เป็นกฎหมายขายชาติว่า เรื่องนี้ไม่มีประเด็นเพราะการดำเนินการไม่ต่างไปจากหลักเกณฑ์เดิม เพียงแค่ระยะเวลาเท่านั้นเอง โดยคนที่เราอยากให้ได้รับสิทธิเพื่อให้เข้ามาพำนักในประเทศ มีด้วยกัน 4 กลุ่ม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์โดยจะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้ โดยรัฐบาลก็ทดลองนำร่องไปก่อน 

ทั้งนี้ ตนก็ดูแล้วว่าไม่มีอะไรเพราะประเทศอื่นเขาก็ซื้อและครอบครองกันได้ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจ และเรื่องนี้เราก็นำร่องเอาไว้ หากมีผู้สนใจแล้วเราได้กรองตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้แล้วประสบความสำเร็จก็เดินหน้ากันไป

“ถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จก็มาดูว่าเหตุผลคืออะไร จะต้องปรับปรุงหรือไม่ หรือถ้ามันไม่ดีก็สามารถที่จะยุติ หรือทำให้เข้มขึ้นมาได้ เรื่องนี้ไม่ต้องทำไปถึงระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์สามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่ทบทวน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นกฎหมายขายชาติจริงหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวตอบว่า มันไม่น่าจะเป็นการขายชาติ เพราะถ้าขายชาติก็มาตั้งแต่ปี 42 แล้ว ตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่ผ่านมาสื่อก็ไม่ทราบ และปี 45 ก็มีการประกาศออกกฎเกณฑ์ ซึ่งค่อนข้างจะเปิดกว้างมากกว่านี้ด้วยซ้ำ โดยกำหนดใครก็ได้ ต่างด้าวประเภทไหนก็ได้ และมีระยะเวลาเพียงแค่สั้นๆ และมีการลงทุนกว้างๆ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เราจะเอาหลักเกณฑ์หลักนี้ประกบคู่กับบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่สนใจและอยากมาพำนักอยู่ในประเทศไทย และครอบครองที่ดินได้ ถือเป็นแรงดึงดูดประการหนึ่ง ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ทำกัน และไทยก็เป็นประเทศส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำไป และกฎเกณฑ์ไทยก็เข้มงวดกว่าประเทศดังกล่าวในข้างต้นเยอะอีกด้วย