

- “สามพราน” นำไทยผงาดดึงเอเปคต่อยอด BCG Model ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไน ปลื้ม
- ต้นแบบ “ชุมชน” พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว
- ดัน TOCA แพลตฟอร์มเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของโลก ขยายฐานท่องเที่ยวสายกรีนเครื่องมือพลิกโฉมประเทศครบ 3 ด้าน
- “หนุนเศรษฐกิจชาติปลดหนี้เกษตรกรไทยแสนล้าน-สร้างสังคมสีเขียวรับเทรนด์คาร์บอนต่ำ-เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”
นายอรุษ นวราช ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดลและนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปคเยี่ยมชมแผนพัฒนา “สามพรานโมเดล” ในพื้นที่สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ใหม่เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนสีเขียวหรือ BCG : Bio Circular Green Economy Model โดยสามพรานได้ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี สามารถตอบโจทย์ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ช่วยเกื้อกูลสังคมเชื่อมโยงกับเกษตรกรรอบพื้นที่แล้วนำผลิตภัณฑ์การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีมาวางขายในตลาดสุขใจบริเวณสวนสามพราน กับแนะนำผลผลิตขายให้โรงแรม ร้านอาหาร ทั่วประเทศ

คณะของเอเปคที่ได้ลงพื้นที่ดูงานในสามพราน เบื้องต้นมี 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น บรูไน ตอบรับจะแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่อนำโมเดลประเทศไทยผู้นำร่อง BCG Economy Model ไปต่อยอดเรื่อง “วัตถุดิบอาหารปลอดภัยด้วยอินทรีย์” ซึ่งตอบโจทย์สังคมโลกครบทุกมิติ นอกจากเรื่องสุขภาพผู้บริโภคแล้วยังช่วยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องใหญ่คือ “ลดคาร์บอนฟุตพรินท์” ซึ่งเป็นปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ
ขณะนี้ทางสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างเต็มที่ คณะเอเปคเองให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย เนื่องจากเทรนด์โลกประกาศเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Carbon Net Zero ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050

เมื่อแต่ละฝ่ายหันมาสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมากเกี่ยวกับวาระโลกเรื่องลดคาร์บอนฟรุตปริ๊นท์ ประการสำคัญส่งผลดีครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 “เศรษฐกิจ” ช่วยลดภาระหนี้เสียของเกษตรกรมูลค่ารวมทั้งประเทศหลักแสนล้านบาท ที่มาจากการใช้สารเคมี เมื่อหันมาเพาะปลูกด้วยเกษตรอินทรีย์ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิตลงได้ 2-3 เท่า แล้วเกษตรกรยังสามารถขายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางตั้งราคาขายผลผลิตตามจริงกับเครือข่ายพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นมากกว่าคู่ค้าเพียงอย่างเดียว ด้านที่ 2 “สร้างสังคม” สู่คาร์บอนฟรุตปริ๊นท์ ลดการปล่อยคาร์บอนออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ด้านที่ 3 “สิ่งแวดล้อม” ช่วยขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวปลอดสารเคมีให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
หลังเสร็จสิ้นการดูงานทางคณะเอเปคเกิดความเข้าใจการนำเสนอสามพราน และ BCG โมเดลของไทย ไม่ได้ทำเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ได้เพียงอย่างเดียว หากยังดึงผู้ประกอบการ โรงแรม ร้านอาหาร ผู้บริโภค ลูกค้า นักท่องเที่ยว ทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ประการสำคัญ “เรื่องการท่องเที่ยว” ยังทำให้เกิดการเพิ่มประสบการณ์เรียนรู้ควบคู่กับการช่วยกันรักษาดูแลสิ่งแวดล้อมสร้างประโยชน์เชิงบวกต่อสังคมอย่างแท้จริง

แล้วเอเปคยังให้ความสนใจเครื่องมือ “TOCA Platform” ซึ่งกล้าประกาศได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่นำมาใช้ขับเคลื่อนสังคมเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม ตอนนี้เกษตรกรเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 ราย ทางสมาคม TOCA ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ขยายฐานเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นทุกปี
สำหรับภาพรวมทางสามพรานได้ฉายภาพความสำเร็จของ BCG Model ให้ตัวแทนคณะเอเปคจากทั่วเอเชียเข้าใจถึงการนำโมเดลมาใช้ได้กับพื้นที่ขนาดเล็กในชุมชนได้โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเกษตรกรอินทรีย์ในพื้นที่พัฒนา 3 เรื่องหลัก คือ
เรื่องแรก รณรงค์เกษตรกรในพื้นที่สามพรานและเครือข่ายหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์ B :Bio -เศรษฐกิจชีวภาพ อย่างแท้จริง
เรื่องที่ 2 นำคณะเอเปคลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรเพื่อให้เห็นถึง C :Circular -เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งทางเกษตรกรทั้งหมดเลือกใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เช่น ปุ๋ยทำจากเศษอาหารเหลือใช้ หรือมูลสัตว์ และสมุนไพรไล่แมลง
เรื่องที่ 3 วิธีสร้างเศรษฐกิจสีเขียว หรือ G :Green Economy เกษตรกรทุกรายช่วยกันรักษสิ่งแวดล้อม ด้วยกานำเศษอาหารและใบไม้ต่าง ๆ มาทำเป็นพลังงานชีวมวล ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอรุษกล่าวว่า ชุมชนสามพรานได้ตอกย้ำให้คณะเอเปคได้เห็นโมเดลการพัฒนาห่วงโซ่จากต้นน้ำระดับชุมชนแหล่งเพาะปลูกแบบอินทรีย์ สู่กลางน้ำเรื่องการเลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ไปจนถึงปลายน้ำ มี ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม นำไปปรุงอาหารปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน
พร้อมกับมี “เครื่องมือ” เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ด้วยTOCA :Thailand Organic Consumer Association สร้างแพลตฟอร์มรายแรกของโลก ทำต่อเนื่องมาแล้วกว่า 2 ปี เกษตรกรในเครือข่ายทุกรายสามารถโชว์ข้อมูลการเพาะปลูกอย่างครบถ้วน สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้าจากเกษตรในเครือข่ายก็จะได้คะแนนสะสมเรียกว่า Earth Point เป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้ามาซื้อสินค้า เข้ามาท่องเที่ยวฟาร์ม เป็นหนึ่งในห่วงโซ่การมีส่วนร่วมกับโมเดล BCG ได้ด้วย
ทางสมาคม TOCA วางแผนเดินหน้าเชิงรุกกำลังเพิ่มความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) “TCEB” นำรูปแบบต่าง ๆ ไปใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ และหอการค้าไทย โดยยกระดับเป็น “วาระแห่งจังหวัด” นำ TOCA Platform ไปใช้สร้างศูนย์รวมข้อมูลของแต่ละจังหวัด เมื่อนักท่องเที่ยวในประเทศและทั่วโลกเดินทางเข้าไปยังจังหวัดนั้น ๆ ก็สามารถจะใช้เครื่องมือดังกล่าวผ่าน google ปักหมุดเช็คอิน 1.ฟาร์มเกษตรกรที่สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้การทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ได้ 2.ซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ 3.รับประทานอาหารในเครือข่ายที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์มาปรุงเมนูต่าง ๆ 4.เลือกพักโรงแรมซึ่งให้การสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ไทย

รวมทั้งวางกลยุทธ์ขยายเครือข่ายโดยเลือกนำร่องเข้าไปทำร่วมกับจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมก่อน เช่น กรุงเทพฯภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ พร้อมกับพัฒนาแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นชุมทางการพบโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถเข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาฟรีทางเว็บไซต์tocaplatform.org หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มีโรงแรมเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆในกรุงเทพฯ มีกว่า 20 โรงแรม ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ทยอยเข้ามาร่วมบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็น“ต้นแบบ” ช่วยกันขับเคลื่อนการใช้งานแพลตฟอร์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปี 2566 สมาคม TOCA เร่งพัฒนาเกษตรอินทรีย์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงรุก ประกอบด้วย 1.เพิ่มเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ มากขึ้น 2.การจัดงานอีเวนต์สร้างไฮไลต์ตามจังหวัดต่าง ๆ เริ่มในภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น เริ่มเดือนพฤศจิกายน นี้ 3.จัดงานสังคมสุขใจช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หลังจากต้องหยุดเพราะโควิดระบาดไปนานกว่า 2 ปี
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen