

- “สามพราน โมเดล” ทำ APEC 2022 สุดทึ่งไทยแปลงโฉมธุรกิจรายย่อยสู่ BCG ระดับชาติ
- ปูฐานราก 3 อุตสาหกรรม “เกษตร-อาหาร-ท่องเที่ยว” ร่วมปลดล็อกโจทย์ใหญ่ของโลก 3 เรื่อง
- “ลดละเลิกปล่อยคาร์บอน-หยุดเงินไหลออกนอกจากการซื้อสารเคมี-ดันไทยขึ้นนำประเทศสุขภาพดี”
- ต้นปี’66 สมาคมโทก้าจัดใหญ่ “สังคมสุขใจ” 3-5 ก.พ.66 นำทัพผู้ขายกลุ่มเกษตรกรรายย่อยจับคู่กับผู้ซื้อรายใหญ่โรงแรมร้านอาหาร
- พร้อมเปิดงานวิจัยครั้งแรกในไทยแผนลดคาร์บอนทั่วไทย
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน และนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA :Thai Organic Consumer Association) เปิดเผยว่า สวนสามพรานได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จุดหมายปลายต้อนรับคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม 21 เขตเศรษฐกิจ หรือ APEC Thailand 2022 สนใจลงพื้นที่ศึกษาความสำเร็จของ “สามพรานโมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลที่สามารถนำธุรกิจรายย่อยขนาดเล็กสร้างความสำเร็จตามนโยบาย เศรษฐกิจแบบองค์รวมไปพร้อมกัน 3 อย่าง คือ BCG :Bio Econony ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเข้ากับ -Circular Economy การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำสวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดภายใต้ Green Economy การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวพัฒนาสังคมกับสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมดุลมั่นคงยั่งยืน

ทาง “สามพราน โมเดล” ได้นำเสนอคณะประชุมเอเปค 2022 บางส่วนไปแล้ว ภายใต้ BCG Model ของประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.เกษตรไร้สารเคมี 2.อาหารปลอดภัย 3.การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ด้วยการใช้ ดังนี้
แนวทางที่ 1 “พัฒนาเครือข่ายสังคมเกษตรอินทรีย์” นำร่องทำให้ห่วงโซ่อุปทานผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เข้ามาเรียนรู้ความสำคัญด้านความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เพื่อป้อนวัตถุดิบอาหารให้ฝั่งอุปสงค์ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อสินค้าในราคาเหมาะสมรับประทานสิ่งที่มีประโยชน์
ตามแนวทางขับเคลื่อน “สังคมอินทรีย์ด้วยชุมชน” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตจริงนั้น ได้ก่อเกิดประโยชน์เป็นวงกว้างจาก“วัตถุดิบอาหาร” ไปสู่กุญแจสำคัญแก้โจทย์ที่ใหญ่กว่าซึ่งเป็นกระแสโลกปัจจุบันและอนาคตอีก 3 เรื่อง คือ

1.สุขภาพของผู้บริโภค ลดการรักษาพยาบาล แล้วทำให้สังคมน่าอยู่เพิ่มขึ้น คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า
2.ปลดล็อกทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสมดุล หรือ Carbon Neutral เปรียบเทียบแล้วน่าจะเป็นกระแสใหญ่กว่าการรณรงค์ปลูกป่าทั่วประเทศ ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกป่ามีแค่ 10 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ทำเกษตรมากถึง 150 ล้านไร่ เกินครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ปัจจุบันมีเพียง 1 ล้านไร่เท่านั้น
3.ลดเงินไหลออกนอกประเทศจากการลดนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ เน้นใช้วัสดุธรรมชาตินำกลับมาใช้ใหม่ แล้วในขั้นตอนกระบวนการเพาะปลูกก็ลดคาร์บอนได้ด้วย
แนวทางที่ 2 “สร้างการมีส่วนร่วมของธุรกิจรายย่อยระดับท้องถิ่น” ยกระดับเป็นวาระเกษตรอินทรีย์จังหวัด โดยได้โชว์เคสความสำเร็จของสามพราน โมเดล ก้าวสู่ปีที่ 15 แล้ว ทางคณะเอเปคท่องเที่ยวจากหลายได้ลงพื้นที่แล้วให้ความสนใจจะสานต่อตอนช่วงที่เข้ามาประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลัก ๆ จะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ต้องการให้แชร์ประสบการณ์กับบทเรียนการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อิสราเอล กลุ่มที่ 2 ต้องการความร่วมมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน
แนวทางที่ 3 สร้างตัวชี้วัดเกษตรอินทรีย์ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะทำให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่จะต้องได้รับการพัฒนาต่อไป เพียงแต่จะต้องให้เกษตรกรได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอนาคตเกษตรกรก็จะเข้ามาอยู่วงจรการขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นได้ต่อไป

นายอรุษ กล่าวว่า “สวนสามพราน” จังหวัดนครปฐม ได้ใช้สถานที่เป็นกึ่ง “ศูนย์เรียนรู้” โดยขยายผลคู่ไปกับการเปิด“สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์หรือโทก้า/TOCA” ซึ่งมีสมาชิกบนแพลตฟอร์ม TOCA หลัก 6 เครือข่าย กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอีกกว่า 1,000 ราย เพื่อร่วมกันสร้างภูมิสังคมดึงจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาร่วมด้วย เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรีกาญจนบุรี มีทั้งเกษตรกรกับผู้บริโภคในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างกัน และเป็น “ตลาดกลาง” เพื่อรองรับสินค้ามาขาย ดึงความสนใจให้คนหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมีสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย “TEATA” เข้ามาร่วมพัฒนาเปิด “เส้นทางท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์” จะเกิดขึ้นได้เร็ววันนี้ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลการลดปริมาณคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ ได้มากน้อยเพียงใด
ส่วนสมาคมโทก้าเองก็พยายามจะปรับแพลตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนใช้งานได้ง่ายขึ้น ขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนโทก้าเข้าไปบุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมใน 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่เชียงใหม่ ส่งเสริม “การท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน” สามารถวัดค่าได้จากนั้นก็ใช้เครื่องมือใหม่ “Earth Point” ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสะสมแต้มแล้วนำไปแลก “สิทธิประโยชน์” เหมือนกับบัตรเครดิต ได้ทั้งการร่วมสนุก ร่วมเรียนรู้ แต่ละครั้งเมื่อเดินทางท่องเที่ยวได้สร้างพลังบวกได้ด้วยวิธีใดบ้าง
ส่วนระบบที่นำมาใช้กับนักท่องเที่ยวจัดทำเป็น “คาร์บอน แฮนด์ปริ๊นท์” แทน “คาร์บอน ฟุตปริ๊นท์” เมื่อแต่ละคนเข้าร่วมกิจกรรมตามกติกา เช่น การไปช่วยแยกขยะในแหล่งท่องเที่ยว หรืออุดหนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือซื้อวัสดุจากท้องถิ่นที่ใช้วัสดุรีไซเคิลมาทำสินค้าที่ระลึก
นายอรุษ กล่าวว่า สมาคมโทก้ายังได้จับมือกับคนรุ่นใหม่ในหอการค้าไทยทั่วประเทศ ผลักดันขยายผลเครือข่ายตั้งเป้ายกระดับจากชุมชนเป็น “เกษตรอินทรีย์จังหวัด” เพื่อให้เกิดการซื้อขายและบริโภคภายในจังหวัด จัดการขยะ ใช้การเดินทางภายในจังหวัดลดคาร์บอน เช่น ปั่นจักรยาน พายเรือ และอื่น ๆ ที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนสู่สังคม ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมดีต่อสขภาพ ซึ่งทุกสามารถลุกขึ้นมาทำร่วมกันได้ ซึ่งทางโทก้าพร้อมเป็นโค้ชกับนำเครื่องมือเข้าไปช่วยแต่ละจังหวัด เพื่อดูแลรักษาให้เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมี มีวัตถุดิบอาหารที่ดี และเป็นเมืองสุขภาพ พร้อมจะสนับสนุนทั้งจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองด้วย

ส่วนแผนการจัดงานมหกรรม “สังคมสุขใจ” ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณ “ตลาดสุขใจ” สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม จะรวมตัวเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ ไฮไลต์จะจัดให้มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การขายสินค้า 2.การจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching ระหว่างผู้ขายคือกลุ่มเกษตรกรกับผู้ซื้อในกลุ่มประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ที่ต้องการจะสั่งสินค้าอินทรีย์จำนวนมาก 3.เปิดงานวิจัยเกษตรอินทรีย์กับการลดคาร์บอน ฟุตปรินท์ หรือการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดในประเทศ ซึ่งทางสมาคมโทก้าทำกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ขณะเดียวกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เมื่อการท่องเที่ยวผ่อนคลายจากโควิด-19 ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ กลับมาเปิดบริการเริ่มสั่งซื้อสินค้าอินทรีย์จากสมาชิกเกษตรกรบ้างแล้ว มูลค่าการซื้อขายทั้งประเทศสินค้าอินทรีย์ทั่วประเทศมีประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท สมาชิกของโทก้ายังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงมาก แต่เกษตรกรสามารถเรียนรู้การใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือกรอกรายละเอียดบันทึกไว้บนแพลตฟอร์ม สร้างความเชื่อมั่นแก่เครือข่ายผู้ซื้อซึ่งเป็นทั้งผู้ประกอบการและคนทั่วไป นำไปสู่ธุรกิจที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen