สาธารณสุข แนะประชาชนยึดหลัก 5 ด้าน เกราะป้องกันโควิด-19

  • สวมหน้ากาก ล้างมือ
  • ชี้ผลสำรวจกรมอนามัยพบประชาชนยังกังวลสถานการณ์
  • ย้ำลอยกระทงสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลล้างมือ เลี่ยงจุดที่แออัด

นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุขรองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการหลักในการป้องกันการระบาดซ้ำโรคโควิด 19 สำหรับประชาชนว่า ในการป้องกันการระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและผู้ประกอบการ ในการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยนำแบบจำลอง Swiss Cheese Model ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่าเป็นแนวทางที่ทำให้เห็นภาพของแต่ละขั้นตอนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเปรียบเทียบแต่ละมาตรการเสมือนชีส 1 แผ่น ความผิดพลาดของมาตรการคือ รูที่แผ่นชีส ซึ่งความผิดพลาดแต่ละมาตรการมักเกิดไม่พร้อมกัน รูที่แผ่นชีสจึงไม่ตรงกัน แต่หากทุกมาตรการล้มเหลวพร้อมกัน ก็จะเกิดรูตรงกันทุกแผ่นชีส จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้นมาตรการหลัก 5 ด้านสำคัญที่เป็นเกราะป้องกันโควิด 19 ของไทยเปรียบเสมือนชีส 5 แผ่น ได้แก่ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สถานประกอบการต้องมีที่ล้างมือ, สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ, เว้นระยะห่าง, มีระบบระบายอากาศ, ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี ในบางสถานที่หรือสถานการณ์อาจทำไม่ได้ครบทั้ง 5 ด้าน ขอให้เข้มด้านใดด้านหนึ่ง ที่สำคัญคือการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ

นายแพทย์สราวุฒิกล่าวว่า กรมอนามัยได้สำรวจมุมมองประชาชนต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 8,112 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 94.71 มีความกังวลต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.42 เห็นด้วยกับมาตรการสวมหน้ากากป้องกันโควิด 19 เมื่อออกจากบ้าน ขณะที่ในทางปฏิบัติมีเพียงร้อยละ 52.58 ที่สวมหน้ากากตลอดเวลา แม้ไม่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก และเป็นไข้ และร้อยละ 43.85 สวมหน้ากากเป็นบางเวลา สำหรับสถานที่ที่ประชาชนสวมหน้ากากมากที่สุดคือห้างสรรพสินค้า/ ร้านค้าร้อยละ 92 รองลงมาคือสถานที่แออัด เช่น การจัดประชุม/อบรม/ สัมมนา/ ตลาดนัด หรือการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ร้อยละ 90, โรงพยาบาล ฟิตเนส ร้อยละ 83, สถานที่ทำงานร้อยละ 78, สถานศึกษาร้อยละ 62.44, โรงแรม รีสอร์ทร้อยละ 60 ที่น่ากังวลคือ สถานบันเทิง และยานพาหนะสาธารณะสวมเพียงร้อยละ 49

สำหรับการรับรู้ต่อแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่า ร้อยละ 92 รับรู้ครบถ้วนทั้ง 8 ข้อ คือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นและพื้นผิววัสดุ/การเดินทางออกนอกบ้าน/ การใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องพบปะโดยตรงกับผู้อื่น ทำงานที่บ้าน เมื่อมีอาการไข้ ไอ จามจะแยกตัวจากผู้อื่น และกักตนเอง 14 วันหลังเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่มีการปฏิบัติในการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นประจำ-ค่อนข้างบ่อยร้อยละ 59, ปฏิบัติบางครั้ง-น้อยครั้งร้อยละ 29 และไม่เคยทำเลยร้อยละ 12

ทั้งนี้ ประชาชนที่ไปเที่ยวงานลอยกระทง แนะนำให้พกแอลกอฮอล์เจลติดตัวและล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงจุดที่มีคนหนาแน่นมาก หากไม่สบายมีไข้ให้พักอยู่บ้าน หรือลอยกระทงออนไลน์