

- เผยสาธารณสุขเตรียมพร้อมทั้งทีมบุคลากร-อุปกรณ์-ตัวยา-สถานที่กักกัน
- มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ
- มียาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย
- ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วย 126 ราย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Smart Living with COVID-19 เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนทุกแขนงรวม 70-80 คน เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกถึงนโยบายการเปิดประเทศ บนพื้นฐานของความปลอดภัย
นายอนุทิน กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มข้น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค กระทั่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามหลังจากที่สามารถจัดการโรคได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยได้เรียนรู้การรับมือกับโรคได้แล้ว จึงมีนโยบายคลายล็อกเพื่อให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้ตามปกติแล้ว
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นฝ่ายเตรียมการเพื่อรองรับการผ่อนปรนที่เกิดขึ้น อาทิ ทีมสอบสวนโรคนับพันทีมที่พร้อมลุยงานเร่งด่วน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคน ในการเฝ้าระวัง สถานกักกันโรคทุกประเภทมีห้องรองรับมากกว่า 8 พันห้อง มีห้องปฏิบัติการในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 รวมถึงมีดารจัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 6 แสนเม็ด ราเด็มดิเซเวียร์เกือบ 1 พันหลอด ห้องแยกโรคและเตียงเพื่อรองรับการรักษา รวมถึงมีเครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก มีหน้ากาก N95 กว่า 2.7 ล้านชิ้น ชุด PPE กว่า 1.9 ล้านชิ้น
นายอนุทิน กล่าวว่า เดิมจากที่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยอาการหนัก โดยต้องรอตัวยาและใช้อย่างจำกัดปัจจุบันหากมีอาการก็สามารถให้ยาได้ทันที เพราะมียาสำรองไว้จำนวนมากช่วยลดความสูญเสียได้ ที่สำคัญประเทศไทยยังมีคนไทยที่ให้ความร่วมมือ เหล่านี้คือความพร้อม ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการชี้แจงให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเดินหน้าคลายล็อก ไปจนถึงการเปิดประเทศหลังจากนี้
“กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมทรัพยากรไว้รองรับทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญการร่วมแรง ร่วมใจของคนไทยทั้งการใส่หน้ากาก การล้างมือ เมื่อปฏิบัติต่อไป จะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ที่เราปฏิบีติกันมา นี่คือวัคซีนที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อเลย ไปล็อกบ้าน ล็อกเมือง ปิดประเทศ ให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ สิ่งนั้นไม่ใช่เป้าหมายของไทย เพราะนับจากนี้ ถึงเวลาเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคอย่างปลอดภัย คนไทยเศรษฐกิจไทย ก็ต้องฟื้นตัวด้วย มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถจัดการสถานการณ์ได้ หากกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม บวกกับความร่วมมือของประชาชนและทุกภาคส่วน โดยหวังว่ามาตรการ และการเตรียมการของกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้เศรษฐกิจไทย ได้ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง

ทั้งนี้สิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวมาเหล่านี้เป็นภาพรวมความพร้อม ในวันที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าสู้กลับโรคโควิด-19 ภายใต้แนวคิด SMART LIVING WITH COVID-19 คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด
“ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข มีประสบการณ์ ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ความพร้อม และมีแผนการในการรองรับการเปิดประเทศ ที่จะทยอยคลายล็อกหลังจากนี้”
นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ว่า ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. (ชุดเล็ก) ได้เห็นชอบในหลักการ และอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้พิจารณาในสัปดาห์หน้า จากข้อมูลที่ได้รับนั้น ยืนยันตรงกันว่า การลดให้เหลือ 10 วัน อยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมโรคได้ แต่การตัดสินใจทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาพรวม เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะพิจารณาเพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ต้องเอากรมกองที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขนั้น แบ่งเป็น ด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ การรับผู้ป่วยจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู ทั้งนี้จากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียูเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้นการเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้ 230-400 คน ทั่วประเทศรองรับได้ 1,000-1,740 คน
ในขณะที่ยาและเวชภัณฑ์นั้น จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2563 มียาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากาก N95 คงเหลือ 2,782,082 ชิ้น ชุด PPE คงเหลือ1,959,980 ชิ้น และมี 40 โรงงานกำลังการผลิต 60,000 ชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ50,922,050 ชิ้น มี 60 โรงงาน กำลังการผลิต 4,700,000 ชิ้น/วัน
นอกจากนี้ในส่วนการตรวจหาเชื้อนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะกรุงเทพฯ ได้ถึงวันละ10,000 ตัวอย่าง ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง โดยปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ 238 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ชายแดนประมาณ 100,000 ราย พบผลบวก 1 ราย ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอ หากมีผู้สงสัยติดเชื้อและต้องตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผล
ขณะที่ในส่วนของสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine : ASQ) ที่ต้องผ่านมาตรฐาน 6 ด้านปัจจุบันมี 107 แห่ง มีผู้กักตัวสะสม 35,362 คน อยู่ระหว่างการกักตัว 6,201 คน กลับบ้านแล้ว 29,161 คน สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1,200 ล้านบาท
ในส่วนสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) รองรับผู้ป่วยโรคอื่นที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันมี 173 แห่ง มีผู้ป่วยและผู้ติดตามเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้วจำนวน 2,367 ราย รักษาเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 1,072 ราย กำลังรักษาอยู่ จำนวน 1,295 ราย สร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว จำนวน1,272,827,982 บาท