สอบวินัยร้ายแรง ”แก๊งถุงมือยาง” สุดป่วน



  • “พ.ต.อ.รุ่งโรจน์”ค้านตั้งคณะกรรมการสอบวินัย
  • อ้างผู้อำนวยการอคส.ไม่มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง
  • ผอ.อคส.สวนกลับมีอำนาจตั้งตามกฎหมายชัวร์

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบวินัยร้ายแรงพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส. และเจ้าหน้าที่อคส. ระดับนักบริหาร 8 อีก 2 ราย เพราะร่วมกันจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบ ข้อบังคับของอคส.ว่า หลังจากตนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงบุคคลทั้ง 3 ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.64 โดยมีนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ได้ทำหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยอ้างว่า เป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตนไม่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ซึ่งยืนยัน ตนมีอำนาจแต่งตั้งตามระเบียบอคส.ว่าด้วยการดำเนินการทางวิยันพ.ศ.2561

“ผู้อำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย พนักงานที่มีข้อกล่าวหามีความผิดวินัยร้ายแรง และมีหลักฐานชี้ชัดว่าผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งในกรณีนี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ของอคส.ได้สอบสวนแล้ว และพบว่า ทั้ง 3 จัดซื้อถุงมือยางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดวินัยร้ายแรง ผมจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อลงโทษทางวินัยกับบุคคลทั้ง 3 รายนี้” 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 เม.ย.นี้ จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) อคส. พิจารณากรณีทำหนังสือคัดค้าน แต่เชื่อว่า จะไม่มีผลทำให้การพิจารณาของคณะกรรมการฯต้องล่าช้า จากเดิมกำหนดให้เสร็จภายใน 30 วัน ส่วนคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด อยู่ระหว่างพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอคส.จากการจัดซื้อครั้งนี้ และทั้ง 3 รายต้องชดใช้ให้อคส. ซึ่งต้องพิจารณาให้เสร็จใน 60 วัน สำหรับการดำเนินคดีอาญา ขณะนี้ รอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงให้เสร็จ จากนั้นจะชี้มูลความผิดผู้กระทำผิด และส่งเรื่องให้อัยการส่งฟ้องดำเนินคดีอาญา 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุที่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ อ้างว่าคณะกรรมการฯชุดนายพิทักษ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ถูกนายกรัฐมนตรีสั่งย้ายไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราว จึงไม่ได้เป็นพนักงานอคส. และผู้อำนวยการอคส. ไม่มีอำนาจตั้งคณะกรรมการสอบวินัย แต่ในคำสั่งนายกฯ ระบุว่า การย้ายพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ยังไม่ขาดจากอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง เงินอื่น และสิทธิประโยชน์เดิมที่ได้รับอยู่ จึงถือว่า พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ยังอยู่อคส. และที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้เรียกทั้ง 3 รายให้ปากคำแล้ว แต่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ อ้างจะให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และหากคณะกรรมการฯพิจารณาโทษไล่ออก จะทำหนังสืออุทธรณ์ต่อไป