สหรัฐฯ บอกยูเครน “ส่งสัญญาณเชิงบวก”พร้อมเจรจาเพื่อยุติสงครามกับรัสเซีย

  • เพื่อไม่ให้สงครมยืดเยื้อไปนานกว่านี้
  • หลังหลายภูมิภาคข้าวยากหมากแพงขั้นรุนแรง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 พ.ย. โดยอ้างจากรายงานของเดอะ วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตัน ว่ามีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเคียฟ ในเชิงโน้มน้าวให้มีการ “ส่งสัญญาณความพร้อม” ของการเจรจากับรัสเซีย และขอให้ยูเครน “ถอนคำพูด” ว่าจะไม่พบหารือกับรัฐบาลมอสโก ตราบใดที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังคงอยู่ในอำนาจ

แหล่งข่าวเน้นว่า ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐไม่ใช่การผลักดันให้ยูเครนเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นความพยายาม “ที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว” ว่าจะยังคงช่วยให้ยูเครนได้รับความสนับสนุนจากนานาชาติต่อไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่การสู้รบจะยืดเยื้อ “นานอีกหลายปี”

อนึ่ง รัฐบาลวอชิงตันมองว่า จนถึงตอนนี้ ปูตินยังไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการ ว่าจะเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ได้มีโอกาสพูดคุยโดยตรงด้วยหรือไม่ แต่การที่เซเลนสกียืนกรานอย่างเปิดเผยว่า “ไม่อยากคุยกับปูติน” ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างหนักในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะยุโรป แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงขั้นรุนแรง

ทั้งนี้ เซเลนสกีกล่าวระหว่างการลงนามในเอกสาร นำยูเครนสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) เมื่อปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลเคียฟยังคงมีความพร้อมและมุ่งมั่นเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับรัสเซีย “บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการให้เกียรติ” ที่รวมถึงการเจรจาอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม การพบหารือกับรัฐบาลมอสโก ต้องไม่ใช่การที่รัสเซียมีปูตินเป็นผู้นำประเทศอีกต่อไป.