สหรัฐฯจ่อเปิดไต่สวนผู้ส่งออกไทย เวียดนาม มาเลย์ 14 ราย

.หลังผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลฟ้องรัฐสวมสิทธิ์สินค้าจีนส่งออก

.หวังหลีกเลี่ยงถูกสหรัฐฯเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้า

.พาณิชย์เตรียมหารือผู้ส่งออกก่อนหามาตรการช่วยเหลือ

สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลของสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้ไต่สวนการนำเข้าแผงโซลาร์เซล จากโรงงานผลิต 14 ราย จาก 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เพราะทำผิดกฎหมายสหรัฐฯในลักษณะแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า (Circumvention) ด้วยการนำสินค้าที่ผลิตจากจีนมาแปรรูปเพียงเล็กน้อย หรือเพียงแค่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใน 3 ประเทศแล้วแอบอ้างว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจาก 3 ประเทศก่อนส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหวังหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการทุ่มตลาด (เอดี) และภาษีการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) ที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากสินค้าจีน โดยไทย มีผู้ผลิต 4 รายที่เข้าข่ายกระทำผิดในครั้งนี้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะมีเวลาพิจารณาคำร้อง 45 วันหลังจากวันยื่นฟ้อง หรือสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศผลการพิจารณา หากพบว่า สินค้าจากทั้ง 14 โรงงาน แอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจริง ก็อาจประกาศคำตัดสินขั้นสุดท้ายโดยบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้า Circumvention ทันที

แต่หากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ก็อาจประกาศว่า มีมูลแล้วเริ่มต้นกระบวนการไต่สวน ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาไม่เกิน 300 วัน และจะเปิดโอกาสให้ทำประชาพิจารณ์และยื่นคำคัดค้านได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ อย่างไรก็ตาม หากผลการพิจารณา พบว่า ทั้ง 14 โรงงานมีควมผิดจริง สหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเป็นรายบริษัท ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเรียกเก็บเท่ากับอัตราที่เก็บภาษีเอดีจากสินค้าจีนที่ 92.52-95.50%

สำหรับ 4 โรงงานส่งออกไทยนั้น 3 รายแรกเป็นการลงทุนของจีน และอีก 1 รายเป็นการร่วมทุนของจีนและไต้หวัน ซึ่ง 2 ใน 4 รายนี้ สหรัฐฯเก็บภาษีเอดี 92.52-95.50% ทั้งนี้ ศุลกากรสหรัฐฯ กำลังเพ่งเล็งสินค้าจากไทย และอาเซียนอื่น เพราะอาจสวมรอยสินค้าจีนในหลายกลุ่ม เช่น เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือเรียกเก็บภาษีเป็นการตอบโต้ เพราะอาจเสียตลาดได้ในอนาคต

ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะเชิญผู้ส่งออกทั้ง 4 รายมาหารือถึงวิธีการทำธุรกิจว่าแอบอ้างแหล่งกำเนิดจริงหรือไม่ และหากสหรัฐฯเปิดไต่สวน กรมพร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยในกระบวนการโต้แย้งข้อกล่าวหาด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าไทยนั้น กรมได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่ถูกสหรัฐฯเก็บภาษีเอดี/ซีวีดี เพราะมีแนวโน้มที่จะแอบอ้างแหล่งกำเนิดไทยได้