สหภาพ รฟท. แถลงต้านนำเอกชนร่วมทุน PPP เดินรถไฟฟ้าสายสีแดง

สหภาพ รฟท. แถลงต้าน นำเอกชนร่วมทุน PPP เดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ยืนยัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ มีความพร้อม เข้าทำงานหลังโครงการเปิดบริการในปลายปี 64 ฟันธง! เอกชนบริหารทำค่าโดยสารแพง และขอโอกาสบริหารโครงการก่อน 5 ปี ถ้าเจ๊งพร้อมถอย ด้าน”ศักดิ์สยาม”ขอฟังความเห็นรอบด้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง(ขร.) หารือประเด็นร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- รังสิต และตลิ่งชัน- บางซื่อ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาดูในส่วนของกรอบระยะเวลาของการเปิดให้บริการของทั้ง 2 หน่วยงาน มีไม่ตรงกัน โดยในส่วนของ รฟท.ตามข้อมูลจะเปิดให้บริการปี66 ขณะที่ กรมการขนส่งทางราง ได้รายงานว่าสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนปี66 ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.คัดค้านแนวทาง ที่จะมีการนำเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP เดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน นั้น ก็ต้องเคารพ และเอาข้อมูลมาดู ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.และคณะกรรมการ บอร์ด ไปทำความเข้าใจว่า ให้แสดงข้อมูลมา ว่าที่พร้อมจะบริหาร แบบไหน อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การทำอะไรจะมีตัวชีวัด (KPI) เรื่องนี้ไม่มีธง หาก รฟท. ต้องการที่จะเดินรถเองก็ต้องพิจารณาให้อยู่ภายใต้กรอบภาระงบประมาณที่มีข้อจำกัด เรื่องนี้ผูกพันกันมานานตั้งแต่ปี 2555 มีการขยายมาเรื่อยๆถ้าเราไม่ใช้วิธีนี้อาจจะไม่มีข้อยุติเมื่อไรเรื่องนี้จะดูข้อเท็จข้อกฏหมาย จริงทั้งหมด ส่วนเรื่องเวลาที่มีการเข้าคลาดเคลื่อนว่าจะเปิดให้บริการในปี64หรือ 66 นั้น อาจจะไปบวกกันผิด ผมเอ่อเร่อเองก็ได้ ผมยอมรับ ก็ดีเพราะจะได้รับฟังความคิดเห็น ตอนนี้ชาวบ้านมีความต้องการอยากใช้มาก โดยหลักของเราถ้าพร้อมทุกมิติก็ทำ ถ้าไม่พร้อมทุกมิติก็ต้องแก้ไขให้จบ ส่วนใครจะมาวิ่งให้บริการก็ต้องดูความพร้อม หาก รถไฟวิ่งเองมีประสิทธิภาพมีความพร้อมแล้วตอบโจทย์เรื่องค่าโดยสาร ที่รัฐไม่ต้องมาอุ้ม ก็ไม่มีปัญหา

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดแถลงข่าวพร้อมสมาชิกสหภาพฯ และผู้บริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ยืนยันถึงจุดยืนในการคัดค้านแนวทาง ที่จะมีการนำเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ขอให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เดิม ที่ให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ในปัจจุบัน เป็นผู้บริหารงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงดังกล่าว เนื่องจากมีการอบรมเตรียมความพร้อมของบุคลากรไว้แล้ว

ทั้งนี้มองว่า หากมีการนำเอกชนเข้ามาบริหารเดินรถสายสีแดง อีกหนึ่งเส้นทาง   ก็จะเสมือนการกินรวบให้เอกชนชุบมือเปิบ เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ในช่วงที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการแล้ว  รวมทั้งที่ผ่านมามีผลศึกษาชัดเจนว่า  ค่าบริการรถไฟฟ้าของไทย  ที่มีเอกชนบริหารการเดินรถ เป็นค่ารถไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก  และมีตัวอย่างให้เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเจรจาขอให้ผู้ประกอบการ  ลดค่าโดยสารเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชน ก็ทำได้ยากมาก

“การเจรจารอบที่แล้วเพื่อลดราคาค่ารถไฟฟ้า มีแต่เพียงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เท่านั้น ที่ลดราคาได้จาก 45 บาทลงเหลือ 25 บาท ส่วนเอกชนรายอื่น อิดออดไม่ยอมลดราคาค่าโดยสาร  ทำให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบรถไฟฟ้า ที่บริหารงานเอง ไม่เช่นนั้นเอกชนก็จะกินรวบ  การบริหารเดินรถไฟฟ้าและรถไฟระบบต่างๆทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารแพงเหมือนเดิมอีก” นายสาวิทย์กล่าว

ส่วนคำถามว่าที่ผ่านมา การบริหารงานของ รฟท.  ที่ประสบผลขาดทุนมากทำให้ประชาชนมีความวิตก หาก รถไฟ  หรือบริษัทลูกของ รถไฟ เข้ามาบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะทำให้ เกิดปัญหาการขาดทุนซ้ำขึ้นอีกนั้น นายสาวิทย์กล่าวว่า เรื่องนี้อยากให้ไปทบทวนดูว่าการขาดทุนของ รถไฟ  มาจากภาระการคิดราคาค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนเพื่อดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการ  และเมื่อมีผลขาดทุนสะสม  ก็ต้องมีการจัดหาเงินกู้มาจ่ายดอกเบี้ย  ทำให้เป็นยอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก อย่างไรก็ตามแนวทางของสหภาพฯเห็นว่า การที่หน่วยงานภาครัฐหากจะประสบผลขาดทุนเพื่อดูแลผลประโยชน์และการเข้าถึงบริการของประชาชน  ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้  เพียงแต่ขอให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ  ไม่เป็นต้นเหตุของการขาดทุน

ทั้งนี้นายสาวิทย์กล่าวย้ำว่าในการบริหารเดินรถสายสีแดงนั้น ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด  บริหารการเดินรถก่อน 5 ปีโดยในช่วงเวลาดังกล่าว หากยังเกิดผลขาดทุนขึ้นอีกในส่วนนี้ทั้งสหภาพฯ และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก็พร้อมถอนตัวออกไป

นอกจากนี้ ประธานสหภาพแรงงานฯ รฟท.ระบุด้วยว่า ปัจจุบันได้รับการประสานจากกระทรวงคมนาคมแล้วว่า พร้อมจะกลับไปใช้แนวทางตามมติคนร.เดิม  โดยมีการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวแล้ว ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ดังนั้นหลังจากนี้ทางสหภาพฯจะมีการประชุมคณะทำงาน เพื่อติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสายสีแดงต่อไป  ส่วนประเด็นเรื่องความล่าช้าของโครงการนั้น จากข้อมูลพบว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นมีความล่าช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยโครงการจะยังสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2564 ไม่มีการเลื่อนเปิดโครงการไปเป็นปี 2566 แต่อย่างใด

ด้านนายชิตพล พรหมดนตรี ประธานสหภาพแรงงานฯ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (สร.รฟฟ. ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการเตรียมความพร้อมฝึกอบรมพนักงานเพื่อเข้ารับผิดชอบการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้แล้ว  แต่ต้นปีที่ผ่านมาต้องชะลอการฝึกอบรมออกไป  หลังมีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ก็ยืนยันว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการ บุคลากรของบริษัทจะมีความพร้อมแน่นอน  

อย่างไรก็ตาม  หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการดึงเอกชน ร่วมทุนเดินรถแบบ PPP ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอน  ในการที่จะเข้าบริหารโครงการขึ้น  และอาจเกิดปัญหาสมองไหลออกจากองค์กรของบริษัทฯ  ไปสู่ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเดินรถไฟฟ้าได้