สส.ก้าวไกล ชี้รัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญ SMEs น้อยไป หวั่นแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เข้าแต่กระเป๋าเจ้าสัว

  • เผย SMEs คาดหวังนโยบายรัฐ เพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูง
  • ตั้งตารอดูรัฐบาลใหม่ จะกล้าแก้กฎหมายทลายผูกขาด หรือไม่
  • หรือเลือกปล่อยอำนาจเศรษฐกิจ ให้อยู่ในกำมือทุนผูกขาด ทุนใหญ่กลุ่มเดิม

วันนี้ (11 ก.ย.66) นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเน้นที่นโยบายที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs โดยกล่าวว่า ตนเองในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เมื่อได้อ่านและรับฟังคำแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว คิดว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการSMEs น้อยเกินไป โดยมีเพียงการอธิบายว่า SMEs กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเท่านั้น

นายวรภพ กล่าวด้วยว่า ในความเป็นจริง SMEs พบกับปัญหามานานก่อนวิกฤตโควิด ทำให้ตนมีความกังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤตเศรษฐกิจนี้แต่ในภาพกว้าง โดยคิดว่าเพียงการกระตุ้นและการแจกเงินเพียงครั้งเดียว จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ หรือจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด

ทั้งนี้ ประการแรก สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาลคือแต้มต่อเพื่อช่วยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรที่ได้เปรียบมากกว่า SMEs มาก และมีแนวโน้มจะกินรวบในเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกวัน ซึ่งจุดนี้อยากให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไข โดยเฉพาะในโครงการเติมเงินดิจิทัล จากที่กำหนดให้สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กม. มาเป็นการกำหนดให้เงินดิจิทัล ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้ารายย่อย หรือ SMEs เท่านั้น หรืออย่างน้อยรัฐบาลควรจะกำหนดแต้มต่อให้ร้านค้า SMEs เป็นโบนัส 20%-30% สำหรับเงินดิจิทัล ดีกว่าที่จะใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อสุดท้ายจะไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด

เพราะผู้ประกอบการรายย่อยฐานราก คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้มากที่สุด และการกำหนดเฉพาะร้านค้ารายย่อย จึงจะทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินไปยังทุกพื้นที่ได้จริงตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล หรือถ้าวัตถุประสงค์ของโครงการคือต้องการเห็นเม็ดเงินสะพัด เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบมากที่สุดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วๆ การกำหนดเงื่อนไขให้มีการหมุนเงินกันเฉพาะร้านค้ารายย่อย ก็ย่อมจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์นี้มากกว่า และนี่เป็นสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย ‘หวยใบเสร็จ SMEs’ ให้รายย่อย SMEs ได้มีแต้มต่อ เพื่อจูงใจให้คนหันมาอุดหนุนร้านรายย่อยมากขึ้น

ประการที่สอง คือโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ของ SMEs เพราะปีที่แล้วสินเชื่อในระบบทั้งหมดที่อนุมัติให้SMEs ลดลง 2% ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นถึง 5% ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา 6 ปีติดต่อกันแล้ว นี่คือความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันที่เกิดขึ้นชัดเจน เมื่อเงินทุนจากสินเชื่อในระบบไหลไปกองอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่หมด เงินทุนสำหรับ SMEs น้อยลงเรื่อยๆ ยังไม่นับว่าดอกเบี้ยระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็ถ่างขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาล คือการเพิ่มวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อ ให้ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ปกติมีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่ค่อยอยากจะอนุมัติสินเชื่อให้ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายค้ำประกันช่วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้กลไก บสย. เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs แต่งบประมาณที่รัฐบาลก่อนหน้าจัดสรรให้ยังไม่มากพอ ที่จะทำให้สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SMEs

นายวรภพ กล่าวต่อว่า ที่จริงแล้วนโยบายการเพิ่มงบประมาณให้ บสย. 30,000 ล้านบาท ก็เป็นนโยบายเดียวกัน ที่ทั้งพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เคยหาเสียงไว้ตรงกัน แต่วันนี้กลับไม่เห็นในคำแถลงนโยบายแล้ว ตนจึงต้องถามว่าเราจะได้เห็นการสนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

นอกจากนี้ เพราะการที่ SMEs กู้สินเชื่อในระบบไม่ได้ ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาสังคมเกิดขึ้นตามมา และตราบที่ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลจะเติมเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ โอกาสที่รายย่อยจะเข้าถึงทุนก็จะไม่เกิดขึ้น และจะกลายเป็นว่าประชาชนได้แค่ 10,000 บาทมาใช้ แต่มูลค่าเศรษฐกิจก็จะเข้ากระเป๋าทุนใหญ่เหมือนเดิม 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าด้วยหนี้ ซึ่งตนขอเสนอ 3 มาตรการต่อรัฐบาล เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบแทน คือ 1.รัฐบาลมีโครงการช่วยค้ำประกันหนี้เสียให้ผู้ประกอบการแยกตามขนาดตามประเภทตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน 2.ข้อมูลที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำค่าไฟ ยอดขายจากเงินดิจิทัล สามารถเอามาอำนวยความสะดวกให้ยื่นขอกู้ได้สะดวกขึ้น และ 3.ขอให้มีธนาคารรัฐช่วยอนุมัติให้ผู้ที่มีประวัติบูโร โดยกำหนดให้ต้องหักบัญชีจ่ายคืนค่างวดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ก็ได้

ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไปแล้ว รัฐบาลเองก็จำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ โดบเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม โดยต้องทำควบคู่กันทั้งมาตรการไม้แข็งและไม้อ่อน คือมีกฎหมายนิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบที่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นธรรม โดยไม่รอการดำเนินการของตำรวจอย่างเดียว แต่ต้องใช้กระทรวงยุติธรรม และกรมสรรพากรเข้ามาดำเนินการต่อเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้บังคับใช้กฎหมายไปพร้อมกันด้วย

ส่วนประเด็นหนี้ในระบบ ตนเข้าใจจากคำแถลงนโยบายรัฐบาล ว่าจะเกิดการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ติดบูโรรหัส 21 หรือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาในช่วงโควิด ซึ่งอยากเสนอว่าการพักชำระหนี้ ถึงแม้จะช่วยบรรเทา แต่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินได้ และมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการละลายงบประมาณไปกับการพักชำระหนี้โดยที่ไม่ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินได้อยู่ดี 

ตนจึงอยากให้รัฐบาลมุ่งเป้าไปที่การปลดหนี้มากกว่า เช่น การแก้ไขกฎหมาย ให้ลูกหนี้ SMEs รวมถึงบุคคลธรรมดามีสิทธิขอฟื้นฟูกิจการหรือขอฟื้นฟูหนี้สิน เพื่อให้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันได้ จากที่แต่เดิมการเจรจาเป็นไปกับเจ้าหนี้ทีละราย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องมีมาตรการที่กำหนดให้สถาบันการเงิน มีมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธรรมกับลูกหนี้ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรบังคับธนาคารรัฐทุกแห่งให้ลูกหนี้ดีเด่นได้รางวัลเป็นการลดดอกเบี้ยให้ ส่วนใครที่มีปัญหาค่างวด อย่างน้อยเงินต้นควรต้องลดลงทุกครั้งที่มีการจ่ายค่างวด เพื่อให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการชำระหนี้ต่อจนหมดได้

“สิ่งสุดท้ายที่ SMEs คาดหวัง คือการรื้อกฎหมายที่ผูกขาดและล้าสมัย ซึ่งในคำแถลงนโยบายรัฐบาลก็มีระบุอยู่เพราะประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ทั้งในระดับ พ.ร.บ. 955 ฉบับ พระราชกฤษฎีกา 7,107 ฉบับ และ กฎกระทรวงอีก 7,119 ฉบับ ทั้งนี้ ตนขอเสนอให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากภาคเอกชน ให้เป็นผู้ริเริ่มว่ากฎหมายใดไม่มีความจำเป็น หรือควรจะถูกยกเลิกทิ้ง ใบอนุญาตใดใช้แทนกันได้ ไม่ใช่ให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ริเริ่ม และต้องเร่งออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่ ให้ใบอนุญาตให้ทดแทนกันได้แบบรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปไล่แก้ทีละ พ.ร.บ. ซึ่งใช้เวลานานกว่ามาก” นายวรภพ กล่าว

นอกจากนี้ นายวรภพ ได้กล่าวอภิปรายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการผูกขาด โดยระบุว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนในคำแถลงนโยบาย เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน จะเป็นเพียงการแก้กฎหมายเล็กๆ น้อยๆให้สุราพื้นบ้านแบบพอเป็นพิธี แต่ยังคงล็อคมูลค่าเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาทไว้เฉพาะกับกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่ และคำถามสำคัญ คือรัฐบาลชุดนี้จะกล้าหาญพอที่จะทลายกฎหมายผูกขาด ทั้งในกิจการสุรา และอีกหลากหลายธุรกิจเช่น การส่งออกข้าว, การนำเข้าปุ๋ย, โควตาแม่ไก่ หรือจะยังสานต่อกฎหมายผูกขาดเหล่านี้ต่อไปอีกหรือไม่

“ถ้ารัฐบาลชุดนี้ ยังคงไม่กล้าที่จะยกเลิกกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด โอกาสของคนไทยที่จะลืมตาอ้าปาก มีกินมีใช้ ก็จะไม่เกิด และจะเป็นการเสียดายเวลาและโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก ถ้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพลเรือนได้แล้วทั้งที แต่อำนาจทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดเบื้องหลังกลุ่มเดิมๆ” นายวรภพ กล่าว