สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. อยู่ที่ 80.31



  • ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.19%
  • ถือเป็นอัตราเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำสุดกว่า 8 ปี
  • ลุ้นเดือนมิ.ย.จะดีขึ้นตามลำดับจากการคลายล็อกดาวน์

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 80.31 ปรับตัวลดลง 23.19 % เมื่อเทียบกับพ.ค.2562 นับเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีท่ีผ่านมา ที่ค่าดัชนีฯลดลงต่ำสุดรอบ 101 เดือนหรือ 8 ปี 4 เดือนนับจากม.ค.2555 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและโลก ชะลอตัว แต่แนวโน้มจากการที่ประเทศไทย เริ่มมีสัญญาณการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ดีต่อเนื่อง และเริ่มคลายล็อกดาวน์ในภาคธุรกิจได้บางส่วนส่งผลให้ เอ็มพีไอ เดือนพ.ค. หากเทียบกับเม.ย.ท่ีผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 78.08 ปรับเพิ่มขึ้น 2.86%

” เอ็มพีไอเดือน พ.ค.ที่ลดต่ำลงมาก เป็นเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักส่งผลให้การใช้อัตรากำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.อยู่ที่ 52.84% ลดลงจากพ.ค. 2562 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.38 แต่เริ่มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเม.ย. ที่ผ่านมา ที่อัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 51.27 “

ท้ังนี้ การฟื้นตัวดังกล่าวสศอ.ประเมินว่า เอ็มพีไอ เดือนมิ.ย.นี้ อาจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อคดาวน์ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ช่วยให้กิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนและกิจการบางประเภท สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้

“ สศอ.ยังคงคาดการณ์ เอ็มพีอไอตลอดปีันี้ ว่าจะติดลบ 6-7% จากเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คาดขยายตัว 2-3% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนี เอ็มพีไอ เมื่อเดือนม.ค.2543 และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีพีดี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5% และต้อง ติดตามปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในระยะต่อไปหรือไม่อย่างไร

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคือ มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะถัดไปจะเอื้อให้ประชาชน มีการจับจ่ายใช้สอยมากน้อยเพียงใด รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่รุนแรงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่า จะเกิดปัญหาฝนท้ิงช่วงในฤดูฝนนี้ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับเพาะปลูก ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อจากภาคเกษตรชะลอตัวลงได้ รวมถึงเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจากมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนต่างๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ให้ความช่วยเหลือแล้วกว่า 99% ส่งผลต่อกำลังซื้อ ในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังผลกระทบจากโควิด-19 และแผนฟื้นฟูที่มีอยู่แล้ว จะเข้ามาแก้ไขถูกจุดหรือไม่ เพราะจะต้องรอการเปลี่ยนตัวรมว.คลังคนใหม่ ที่จะนำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่บนพื้นฐานของแผนที่รมว.คลัง คนปัจจุบันเตรียมการไว้ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะธนาคารเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อมาก

ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ไปหรือเดือนก.ค.-ก.ย. นี้จะเป็นช่วงเวลาที่ สำคัญมาก สำหรับการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจตามพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วางแผนพิจารณาโครงการขอใช้เงิน 3 ชุด คือ เดือนก.ค.-ก.ย.นี้เท่าน้ัน และเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว