สศช.แถลงภาวะสังคม ว่างงานปี 2563 เพิ่มขึ้นเท่าตัว แถมเจอลดชั่วโมงทำงานอีก



  • รายได้เฉลี่ยครัวเรือนลดลง10.45%
  • เผยปี 2564 โควิดยังสร้างความเสี่ยงให้แรงงาน
  • แยกหนี้ครัวเรือน หนัก 86.6%ของจีดีพี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563 ว่า ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% จากกำลังแรงงานในปี 2563 มีทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือมีผู้ว่างงาน 651,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีผู้ว่างงาน 0.98% หรือมีผู้ว่างงาน 370,000 คน ขณะเดียวกันพบว่าชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7 % ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา หรือที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45 %

สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก อาจจะปรับลดตำแหน่งงานลง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ รวมทั้งมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน และกระจายให้กับประชาชน แรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้ง จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2564 มีน้อย จึงอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยเฉพาะในกลุ่มพืชที่ใช้น้ำมาก อย่างไรก็ตาม มีการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการที่การจ้างงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งหุ่นยนต์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ต ขณะที่การผลิต การยก/เปลี่ยนระดับทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยียังไม่ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว

แนวทางการบริหารจัดการตลาดแรงงาน จะต้องรักษาระดับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนโยบายเสริมสภาพคล่องของภาครัฐ เพื่อรักษาการจ้างงานในช่วงวิกฤต และเร่งรัดการดำเนินงานภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงงานมากขึ้น และจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยธรรมชาติที่จะส่งผลต่อแรงงานเกษตร โดยต้องวางแผนบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมอาชีพเสริมให้กับแรงงานในช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน และการตลาด และสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยการเร่งประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ที่รัฐจัดให้จากการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานของสถานประกอบการ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ อาทิ “ไทยมีงานทำ” ของกระทรวงแรงงาน และ “Futureskill—newcareer.in.th” ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ส่วนหนี้สินครัวเรือน ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสสามปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ รวมทั้ง การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว