

วันที่ 28 มิ.ย.2564 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพ.ค.64 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเม.ย.2564 แต่ยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่สูง
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพ.ค. 2564 ขยายตัวที่ 32.7% และ 41.1% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 7.6% และ 18.2% สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัว 11.3% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 44.7 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น แม้มาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการม33 เรารักกัน จะสามารถพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการบริโภคเอกชน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ 33.6% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 6.3% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด ระลอกใหม่ที่เริ่มมีการค้นพบผู้ติดเชื้อนคลัสเตอร์ แคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเล็กน้อย 2.8% ต่อปีลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัว 41.6% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวสูงถึง 45.9% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และเครื่องปรุงรส
2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น 3.สินค้าป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง 4.กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ 5.สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ
“เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย สหภาพยุโรป อาเซียน-9 และสหรัฐฯ”
ส่วนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพ.ค.2564 ขยายตัว 25.8% และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในหมวดยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ขณะที่ภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวที่ 0.6 % จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวโพด ยางพารา และมันสำปะหลัง
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนพ.ค.64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,052 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอาเซียน
“เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ระดับราคาสินค้าจะมีราคาสูงขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.4% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเม.ย.64 อยู่ที่ 54.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ค.64 อยู่ในระดับสูงที่ 251.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”
