สรุปประมูลดาวเทียม “ไทย”คมกวาด 2 วงโคจร “NT” 1 วงโคจร เงินเข้ารัฐ 806 ล้านบาท

  • เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน
  • รับรองผลการประมูลวันที่ 18 ม.ค.66
  • ผู้ประมูลต้องชำระเงินงวดแรกภายใน 90 วัน

วันที่ 15 มกราคม 2566 นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าผลการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ตามที่ทางคณะกรรมการ กสทช.ได้ให้การรับรองอนุมัติ 3 บริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติได้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลวงโคจรดาวเทียม ประกอบด้วย บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ในเครือของบริษัท ไทยคม จำกัด หรือ THCOM ,บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ,บริษัท พร้อม เทคนิคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

ทั้งนี้ การประมูลเริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น.และสิ้นสุดเวลา 11.36 น.รวมใช้เวลาในการประมูลทั้งสิ้น 1.36 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล โดยผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม วันนี้มีผู้เสนอราคาประมูลจำนวน 3 ชุด จาก 5 ชุด คือชุดที่ 2 , 3 และ 4 ตามที่ กสทช.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า มูลค่ารวม 806,502,650 บาท โดยมีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน จำกัด ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ.ไทยคม (THCOM) , บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ NT) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

ลำดับแรกที่เปิดประมูล คือ ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126 องศาตะวันออก ราคาเริ่มต้น 8,644,000 บาท มีการเคาะราคา 1 รอบ มาที่ราคา 9,076,200 บาท เพิ่มขึ้นมา 432,000 บาท โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที

ลำดับที่ 2 คือ ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย.66 ที่ใช้สำหรับบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397,532,000 บาท มีการเคาะราคาเพียงรอบเดียวเช่นกัน มาจบที่ราคา 417,408,600 บาท ราคาเพิ่มขึ้นมา 19,876,600 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5% ใช้เวลาประมูล 6 นาที

ลำดับที่ 3 ประมูลชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคาเริ่มต้น 189,385,000 บาท ไม่มีรายใดเสนอราคาประมูล

ลำดับที่ 4 เป็นการประมูลชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่ใช้สำหรับรองรับ Broadcast ซึ่งตำแหน่งวงโคจรนี้ยังมีดาวเทียม 2 ดวงใช้งานอยู่ ได้แก่ ไทยคม 6 ซึ่ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) บริหารอยู่ และไทยคม 8 ที่ บมจ.ไทยคม (THCOM) บริหารอยู่ โดยมีราคาเริ่มต้น 360,017,000 บาท มีการเคาะราคา 2 รอบ โดยรอบแรกเคาะราคามาที่ 378,017,850 บาท เพิ่มขึ้น 18,000,850 บาท และรอบที่ 2 เคาะราคาขึ้นมาเพียง 2,000,000 บาท มาเป็น 380,017,850 บาท แต่ไม่ถึงราคาเคาะตามรอบที่ 396,018,700 บาท โดยใช้เวลาประมูล 11 นาที

ลำดับสุดท้ายเป็นการประมูลชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ที่ใช้สำหรับ Broadcast โดยชุดนี้มีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องยิงดาวเทียมภายในเดือน พ.ย.67 เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสิทธิไว้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยชุดนี้ไม่มีรายใดเสนอราคาประมูล

ทั้งนี้ การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด โดย กสทช.ถือเป็นการจัดสรรวงโคจรดาวเทียมด้วยวิธีประมูลเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนจากระบบการให้สิทธิจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต โดยการประมูลมีเงื่อนไขของผู้ประมูลได้ คือ วงโคจรทุกชุดจะต้องแบ่งให้รัฐใช้ 1 ทรานสปอนเดอร์ หากใช้เพื่อให้บริการบรอดแบนด์รัฐที่ 400 เมกกะบิตต์ สำหรับแพคเก็จที่ไม่มีผู้ประมูล กสทช.จะพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ภาพรวมในการประมูลชุดข่ายดาวเทียมครั้งนี้ที่สามารถเปิดประมูลได้ 3 ชุดข่ายดาวเทียมถือว่าได้ดำเนินการได้ 60% กสทช.ในการประมูลดังกล่าวเป็นครั้งแรกในไทยในการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมหรือข่ายงานดาวเทียมที่ประเทศไทยมีอยู่เดิมจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู มาบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะต้องรักษาสิทธิ์การเข้าให้วงโคจรของไทย

และเป็นการเปลี่ยนจากระบบการให้สัมปทานเป็นใบอนุญาต ซึ่งในครั้งนี้ถือประสบความสำเร็จและเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทำให้เกิดการแข่งขัน โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือด้านการบริการที่มีความหลากหลายและดีขึ้น รวมถึงได้เทคโนโลยีดาวเทียมใหม่ทั้งประเภทบรอดแคสต์และบรอดแบนด์ในการใช้งาน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะรับรองผลการประมูลในวันที่ 18 ม.ค.66 ซึ่งผู้ประมูลได้ต้องชำระเงินงวดแรกภายในระยะเวลา 90 วัน