

- ลดต้นทุนผู้ใช้บริการ –เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รับเงิน
- พร้อมลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% เหลือ 2% ปลายปีหน้า
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยภายหลังเปิดตัวการให้บริการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Withholding Tax ว่า สำหรับ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในดิจิทัล ทรานสฟอร์มเมชัน ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่ในระบบภาษี ให้มีความสะดวกสบายขึ้น จากเดิมผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากรและจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเองเป็นมาเป็นการให้สถาบันการเงิน หรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน
สำหรับธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ประกอบด้วย 11 ธนาคาร ได้แก่ กรุงไทย,กสิกรไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ,กรุงเทพ ,มิซูโฮ ,กรุงศรีอยุธยา,ไทยพาณิชย์ ,ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งฯ , สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด , ทหารไทย และแลนด์แอนด์ เฮาส์
ทั้งนี้ ระบบe-Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ ผู้จ่ายเงิน ธนาคารผู้ให้บริการระบบ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากร โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงินและนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน
“กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินส่ามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบหลักฐานหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร”
ทั้งนี้ระบบ e-Withholding Tax จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย 1.ลดต้นทุนการนำส่งการจัดเก็บเอกสาร 2.ลดขั้นตอนในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ 3.ลดอัตราภาษีการนำส่งจาก 3% เหลือ 2% ถึงสิ้นปีหน้า 4.ลดข้อจำกัดต่างๆ เรื่องของเอกสารหาย การตรวจสอบว่ามีการหักเงินนำส่งแล้วหรือไม่ และ5.ลดการตรวจสอบจากกรมแก่ผู้ใช้บริการ โดยกรมฯ จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ที่ใช้บริการที่เป็นผู้เสียภาษีดี จะได้รับการคืนภาษีที่เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กรมมียอดการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการบริการรับจ้างทำของหรือบริการต่างๆ ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เมื่อลดอัตราภาษีการหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% จะช่วยให้ผู้รับเงินหรือผู้รับจ้างทำของหรือบริการต่างๆ มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่ากรมไม่ได้สูญเสียรายได้ตรงนี้ไป เพราะเมื่อสิ้นสุดปลายปี ผู้รับเงินจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ตามจริง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า สถาบันการเงินพร้อมให้ความร่วมมือกับกรมในการให้บริการดังกล่าว โดยระหว่างนี้จะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความร่วมมือการชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับกรมสรรพากร อาทิ การออกใบกำกับภาษีรับและจ่าย การเป็นตัวแทนจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษี/ใบรับแทนผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ การชำระและคืนภาษี การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนักท่องเที่ยว และการรับชำระภาษีผู้ประกอบการต่างประเทศ เป็นต้น