

วันที่ 16 ก.ย.2564 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการเข้ารับรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยมประจำปี 2564 และอีก 7 รางวัลเลิศรัฐ จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบออนไลน์ ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจ เพราะเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนสำเร็จ เป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐ
โดยกรมสรรพากรสามารถคว้า “รางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม” นี้ เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน ซึ่งการได้รับรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยมนั้น หน่วยงานจะต้องได้รับรางวัลระดับดีเด่นครบทั้ง 3 สาขาในปีเดียวกัน ประกอบด้วย สาขารางวัลบริการภาครัฐ รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งปีนี้ กรมสรรพากรได้รับรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม พร้อมกับอีก 7 รางวัลเลิศรัฐ ใน 3 สาขาประกอบด้วย
1.สาขาการบริการภาครัฐ 5 รางวัล คือ
1.1 รางวัลยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด 19 ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ การเลื่อนระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี การเร่งคืนภาษี การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย การหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ เป็นต้น
1.2 รางวัลยกระดับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆเพื่อเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลา รวมถึงการพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สามารถทำธุรกรรมทุกอย่างที่บ้าน หรือ Tax From Home ได้ เป็นต้น
1.3 รางวัลพัฒนาการบริการจากผลงานระบบ My Tax Account พัฒนาระบบต่างๆ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ด้วยตนเอง
1.4 รางวัลบูรณาการเพื่อการบริการ การเชื่อมโยงข้อมูลเริ่มต้นธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานประกันสังคม เชื่อมโยงข้อมูลเริ่มต้นธุรกิจ ลดขั้นตอนต่างๆ สามารถทำธุรกรรมทางภาษี และจดทะเบียนบริษัทได้ด้วยเพียงขั้นตอนเดียว
1.5 รางวัลนวัตกรรมการบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผ่าน Application Thailand VRT แบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบที่แรกของโลก
- สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 1 รางวัล เปิดให้ผู้เสียภาษี ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ข้อมูลพร้อมร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริการที่ตรงเป้า ตรงใจประชาชน
3.สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA 4.0) ระดับพัฒนาจนเกิดผล (Significant) 1 รางวัล โดยรางวัลนี้พิจารณาใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ การวางแผนกลยุทธ์ การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมดำเนินการ การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารองค์ความรู้ และการบริหาร การจัดกระบวนการทำงาน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กร โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกระดับการให้บริการ สร้างนวัตกรรม และปรับเข้าสู่การเป็นกรมสรรพากรดิจิทัลอย่างเเท้จริง”
“ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีการนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบสนองบริการที่ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน จากการที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิต จึงเป็นที่มาที่ทำให้กรมสรรพากรเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มีการจัดทำกลยุทธ์ D2RIVE การใช้ข้อมูล มาวิเคราะห์ รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ Design Thinking, Agile และ Hackathon มาใช้ในการพัฒนาต่อยอดจนทำให้เกิดรูปแบบการให้บริการ ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว แก่ประชาชน”
นอกจากนี้ กรมสรรพากรสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่วางระบบไว้มาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์โควิด – 19 ซึ่งสนองตอบการบริการต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังช่วยให้การทำงานของกรมสรรพากรมีประสิทธิภาพและสามารถต่อยอดจนเกิดผลงานต่าง ๆ ตามมา อาทิ ฐานรายได้ภาษีใหม่ของกรมสรรพากรจาก e – Service เป็นต้น
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161.