

- “จุรินทร์” เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย “บิ๊กตู่” เป็นสักขีพยาน
- จากนี้สมาชิกเร่งดำเนินการภายในเพื่อให้สัตยาบัน
- คาดใช้บังคับกลางปี 64 ยกระดับการค้า ลงทุน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย.63 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากความพยายามทุ่มเทเกือบ 8 ปี โดยรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลงผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งฝ่ายไทย ตนเป็นผู้ลงนาม โดยมีผู้นำอาร์เซ็ปได้ร่วมเป็นสักขีพยาน
“เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับและสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้นำอาร์เซ็ปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ เร่งกระบวนการภายในสำหรับการให้สัตยาบันความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งการจะมีผลใช้บังคับได้ ต่อเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบันความตกลง ในขณะเดียวกันสมาชิกอาร์เซ็ปยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลง ในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาอาร์เซ็ปตั้งแต่ปี 2555”
สำหรับการลงนามความตกลงครั้งนี้ มีสมาชิกเพียง 15 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ คือ จีนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นอินเดีย ถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิก ที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยอาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่เข้มข้น และทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ที่ริเริ่มโดยอาเซียน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนของภูมิภาค
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก