

- TEATA เปิดแผนปฏิบัติการต่อยอด “เที่ยวไทยไร้คาร์บอน” เจาะตลาด 4 กลุ่มแรก “ในประเทศ” คนวัยทำงาน+ผู้สูงวัย+ไมซ์
- ส่วน “ต่างประเทศ” บุกเปิดตัวใน ITB 2023 ชิงลูกค้ายุโรปกลุ่มเลเชอร์/พักผ่อนเที่ยวไทยมาแรงสุด ๆ ลุยผนึก 7 องค์กร
- ขับเคลื่อน 5 ส่วน “ความรู้-เงินทุน-ตลาด-ดีไซน์- โปรแกรมทัวร์ลดคาร์บอน” ปี66พร้อมขายได้แล้วเกือบ 100 เส้นทาง
นางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย “TEATA” เปิดเผยว่า สมาคมTEATA ตั้งเป้าเดินหน้ากลยุทธ์ต่อยอดโครงการ “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนอย่างสมดุล” หรือ Carbon balance โดยได้ลงนาม MOU กับ 7 องค์กร จับคู่ทวิภาคีกับพันธมิตรขับเคลื่อนด้วยวิธีสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทำการตลาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 กระทั่งปี 2566 จะสานต่อกับองค์กรอย่างเข้มข้นทุกมิติการทำงาน เพื่อนำร่องกระตุ้น 4 ตลาดแรก แบ่งเป็น “ในประเทศ” 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนวัยทำงานกับกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งเข้าใจได้เร็วกว่าทั่วไป กลุ่มไมซ์และ “ต่างประเทศ” ริเริ่มในสหภาพยุโรปกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางพักผ่อน (leisure) ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจมานานแล้ว ตอนนี้เครือข่ายสมาชิกสมาคมได้ทำโปรแกรมเที่ยวทั่วไทยไร้คาร์บอนพร้อมวางขายได้แล้วเกือบ 100 เส้นทางควบคู่กับเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรขับเคลื่อน 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 หน่วยความรู้ ร่วมกับองค์การบริหารเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก./TGO เน้นสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นกระบวนการ “วัด–ลด–ชดเชย” ก้าวเข้าสู่ตลาดยุโรปโดยเชื่อมความร่วมมือทำโครงการ TOUR LINK ได้รับงบประมาณสหภาพยุโรป (EU) เพื่อขยายผลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้เข้ามาสนับสนุนประเทศไทยด้วย

ส่วนที่ 2 หน่วยทุน ได้รับเงินสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และวิจัยนวัตกรรม (สวสก.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทำภารกิจอย่างเข้มข้นทางด้านการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน หรือ CNT : Carbon Neutral Tourism อันจะเป็นโยบายหลักของสมาคมเดินหน้าทำต่อเนื่องอีก 2 ปีข้างหน้า
ขณะนี้ TEATA ได้นำองค์ความรู้ถ่ายทอดไปยังสมาชิกผู้ประกอบการเอกชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย กับได้คัดเลือกเส้นทางท่องเที่ยวไร้คาร์บอนทั่วประเทศได้แล้วไม่ต่ำกว่า 60 เส้นทาง ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ยังได้นำไปเสนอในเวทีสากลมหกรรมงานซื้อขายท่องเที่ยวรายการใหญ่สุดของโลกงาน ITB Berlin 2023 นำเสนอโครงการThailand Carbon Neutral Tourism ประกาศให้คู่ค้านานาชาติได้รับรู้ ด้วยยุทธศาสตร์ของไทยกำลังเร่งเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ทั้งการวัด–ลด–ชดเชย ลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนที่ 3 ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางแผนทางด้าน “ตลาดต่างประเทศ” ปูพรมขายการท่องเที่ยวไร้คาร์บอนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป หลังเสร็จสิ้นจากเวทีงาน ITB 2023 ทางสมาคมได้หารือสรุปกับนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลางเบื้องต้นเมื่อวันที่ 21-30 เมษายน 2566 มีโอกาสนำร่องต้อนรับคู่ค้าตัวแทนบริษัทนำเที่ยวและบริษัทจัดการท่องเที่ยว (DMC) จากยุโรปเดินทางเข้ามาสำรวจพื้นที่จริง และ “ตลาดในประเทศ” กำลังร่วมมือกับ 2-3 ฝ่าย ทำกลยุทธ์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั่วไทยได้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมเดินทางท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกพร้อมช่วยลดโลกร้อนไปด้วยกันได้
ส่วนที่ 4 ผนึกความร่วมมือด้านตลาดไมซ์ กับทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” ทางสมาคมให้ความสำคัญกับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจัดโปรแกรมท่องเที่ยวก่อนและหลังการจัดไมซ์ (Pre-Post MICE Tour) ของแต่ละองค์กร นำร่องในตลาดไมซ์ภาคอีสานเป็นพื้นที่แรกเพื่อสร้างการเดินทางไมซ์อย่างยั่งยืน
ส่วนที่ 5 ภาคเอกชนมีองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ได้แก่ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขณะนี้มีโครงการ “ฮักเอิร์ธ” ต้องขับเคลื่อนต่อโดยเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมกอดโลกด้วยกันจะทำตลอดปี 2566
ปี 2566 สมาคม TEATA วางกลยุทธ์ให้สมาชิกบริษัทนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยได้ขายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วย 3 กลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 คัดเลือกเส้นทางพร้อมกับทำโปรแกรมท่องเที่ยวไร้คาร์บอนแล้วเกือบ 100 เส้นทาง นำไปวางบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
กลยุทธ์ที่ 2 ขอความร่วมมือจากสมาคมท่องเที่ยวอื่น ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไร้คาร์บอนเต็มรูปแบบ
กลยุทธ์ที่ 3 พื้นที่นำร่องภาคอีสาน หลังจากได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก สกสว.ตามแผนปี 2566 จะขยายเรื่องการสร้างเครือข่ายการตลาดมากขึ้น นำร่องปูพรมขายท่องเที่ยว 5 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่นจ.นครพนม จ.อุดรธานี จ.เลย และภาคเหนือ 1 จังหวัด คือ จ.แพร่
สำหรับ “รูปแบบการท่องเที่ยวรักษ์โลกร่วมลดชดเชยโลกร้อน” ยังคงความสนุกมีความสุขเหมือนเดิม แต่จะเน้นออกแบบโปรแกรมเดินทางเพิ่มอีก 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ขั้นตอนที่ 1 กระบวนการเกิดคาร์บอนออกไซด์น้อยที่สุดหรือ Low Carbon เช่น เลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดขยะหรือของเสียให้มีขยะน้อยที่สุด
ขั้นตอนที่ 2 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีแพลตฟอร์มสำเร็จรูป สามารถทำได้ง่าย ๆ จากอบก.ได้คิดค้นสูตรมาให้เอกชนและนักท่องเที่ยวสามารถใช้งานได้ทันทีและแต่ละทริป
ขั้นตอนที่ 3 บริหารจัดการแหล่งจุดปล่อยให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ในแต่ละทริปการเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยจะมี 4 จุดปล่อยหลัก ได้แก่
จุดปล่อยที่ 1 “ยานพาหนะ” ที่ใช้เดินทางเป็นต้นตอสำคัญ ดังนั้นก่อนออกเดินทาง แนะนำให้วางแผนเลือกเส้นทางลดระยะทางขับรถวนไปมาใช้เวลามากเกินความจำเป็น หรือเลือกใช้เครื่องยนต์ลดมลพิษ ต่อเนื่องถึงการใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้า (EV)
จุดปล่อยที่ 2 “ที่พัก” พยายามเลือกโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับการมีใจรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นGrenn Hotel หรือ Green Leaf
จุดปล่อยที่ 3 “อาหาร” ควรจะเลือกเมนูซึ่งใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นหรือเป็นออร์แกนิกที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยว เพื่อลดการขนส่งโลจิสติกส์ลงให้ได้มากที่สุด
จุดปล่อยที่ 4 “ของเสีย/ขยะ” จะต้องหาวิธีทำให้เกิดน้อยที่สุดตลอดทุกทริปการเดินทาง สอดคล้องกับ ททท.รณรงค์การท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบ (RT :Responsible Tourism และ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STG : Sustainable Tourism Goal)

นางสาววสุมน กล่าวว่า นับจากนี้เป็นต้นไปจะพลิกโฉมออกแบบการท่องเที่ยวเมืองไทยให้มีประสิทธิภาพเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมได้ในทุกขั้นตอน รวมทั้งการ “ชดเชย” ด้วยวิธีจ่ายเงินซื้อคาร์บอน เครดิต (carbon offset) จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทนำเที่ยวของไทยจะคิดรวมอยู่ในโปรแกรมทัวร์เป็นจำนวนเงินไม่กี่บาท เพราะเมื่อนำเข้าสู่กระบวนการ 3 ขั้นตอน + ร่วมมือกันบริหารเพื่อลดคาร์บอนจาก 4แหล่ง เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ผลลัพธ์ซึ่งเป็นตัวแปร (Emission Factor) มาใช้คำนวณปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนที่จะต้องซื้อมาชดเชยส่วนเกินที่เกิดการแพร่กระจายขึ้นจากการเดินทางแต่ละทริป
ช่วงริเริ่มโครงการทางสมาคม TEATA ใช้วิธีนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยมาจ่ายค่าชดเชยการซื้อคาร์บอนให้นักท่องเที่ยวที่เลือกใช้บริการไปก่อน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องเรียนรู้และสนุกไปด้วยกัน
โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเรื่อง “ค่าไฟฟ้าราคาสูงขึ้น” การนำตัวเองให้หันมาใส่ใจปัญหาอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ส่งผลไปถึงการพลังงานสูงขึ้น หากร่วมมือกันทำให้ทุกเวลาในทุกการเดินทางลดแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะทำช่วยโลกกลับมายั่งยืนได้นั่นเอง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen