

- สมาคม TEATA เร่งธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไทยยกเครื่องครั้งใหญ่ขานรับเทรนด์โลก Corp 26
- พลิกกลยุทธ์การขายดัน “Amazing New Chapter”
- ควบแปลงโฉม BCG ดีไซน์เส้นทางเที่ยวลดก๊าซเรือนกระจก เร่งผลิตแพกเกจ “เที่ยวไทยไร้คาร์บอน”
- รณรงค์นักท่องเที่ยวร่วมกลยุทธ์ “บอกต่อ” หันใช้ 3 ล -ลดขยะ-ลดใช้ทรัพยากร-ลดพลังงาน”
- 3 ขั้นตอน “วัด-ลด-ชดเชย” ส.ค.นี้ ผนึก ททท.ต่อยอดเส้นทางใหม่ 9 จังหวัด
นางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย “TEATA หรือ สทอ.” เปิดเผยว่า ปี2565 ปูพรมนำทีมสมาชิกสมาคมซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวเร่งปรับตัววางกลยุทธ์พลิกโฉมธุรกิจหลังโควิด-19 หันมาทุ่มออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเน้นนำร่องขายแพกเกจการท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ด้วยคอนเซ็ปต์หลัก “เที่ยวสมดุล สนุกเต็มที่ ดีต่อโลก”สร้างจุดขายด้วยธีม“Amazing New Chapter” คัดสินค้าทางเลือกใหม่” สอดคล้องกับแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปี 2566 มุ่งสร้างการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิมหลังจากโลกเปลี่ยน และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย
ปี 2565 ได้เสนอ ททท.ขอต่อยอดทำโครงการ Amazing New Chapters, Amazing “BALANCE” Tourism เพื่อนำเสนอสินค้าดังกล่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมาย Expatriate เข้าร่วมงานและออกเดินทางตามเส้นทางต่างๆ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เกิดความยั่งยืน ในรายละเอียดประกอบด้วยไฮไลต์หลัก 2 กิจกรรม ได้แก่

กิจกรรมแรก Expat Green Event 2022 และ กิจกรรมที่ 2 เสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เพราะเล็งเห็นว่าขณะนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยจะต้องเร่งตื่นตัวเรื่องการทำโปรแกรมท่องเที่ยวลดก๊าซเรือนกระจกลดคาร์บอน ขานรับตลาดหลักในทุกประเทศทั้งยุโรป อเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอนไดออกไซด์ หากไม่รีบปรับตัวจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดการขายท่องเที่ยวของเอกชนไทยในอนาคต
ประการสำคัญการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับลดคาร์บอนได้ จะช่วย “ราคาขายท่องเที่ยวจะลดลง” เพราะเมื่อลดขยะ ลดพลังงาน ลดใช้ทรัพยากร ก็จะทำให้ต้นทุนการทำท่องเที่ยวถูกลงไปด้วย

นางสาววสุมน กล่าวว่า หลังจากสมาคมได้เซนต์ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตร 7 องค์กรไว้ตั้งแต่ปี 2564 เรื่อง “การสร้างสมดุลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์” หรือ Carbon Balance นั่นหมายความว่า มุ่งมั่นทำการท่องเที่ยวโดยปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ Carbon Neutral สอดคล้องกับประกาศของรัฐบาลในนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยยุทธศาสตร์ BCG : Bio Circular Green Model ซึ่งเป็นการทำเรื่องเดียวกันกับของสมาคมTeata มุ่งสู่ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”
ทางสมาคมได้นำข้อมูลการประชุม CORP 26 หรือ Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกเกิดปัญหาเรื่องคลื่นความร้อนทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงโลกร้อนเข้าใกล้มนุษย์มากแล้ว หากไม่เปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการหันมาออกแบบการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม

สมาคมจึงตั้งเป้า “ออกแบบการจัดทริปหรือโปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยว” ให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกได้รับการดูแลลดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุด ขณะนี้เดินหน้าทำโครงการ “ท่องเที่ยวไทย ไร้คาร์บอน” โดยได้รับงบสนับสนุนจาก 2 หน่วยงานหลัก คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) 2.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
สมาคม TEATA ได้นำองค์ความรู้ซึ่งได้รับการอบรมจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำงานวิจัยมาแปลงเป็นแผนปฏิบัติการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวใช้ได้งานจริง กระตุ้นตลาดนักเดินทางและพื้นที่เป้าหมาย นำร่องในจังหวัดน่าน และตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เตรียมนำคณะนักวิชาการนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (inbound) เข้าพื้นที่เพื่อเรียนรู้โครงการที่กำลังเรื่องท่องเที่ยวมีความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย
สำหรับ “การออกแบบโปรแกรมการเดินทาง” ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวสามารถทำได้ไม่ยาก เพื่อสร้างสิ่งที่ดีแก่สิ่งแวดล้อมโลกด้วยกัน โดยใช้ BCG เป็นการปฏิบัติการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism

เมื่อประมวลผลวิธีแปลง BCG ให้เข้ากับชีวิตจริงได้แล้ว ทางผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวจึงได้นำมาออกแบบการจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยววางขายในตลาด ภายใต้ 3 ล.ลิง ประกอบด้วย 1.ลดขยะ 2.ลดใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด 3.ลดการใช้พลังงาน นำไปสู่แผนปฏิบัติการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
หลังจากการถอดรหัส BCG แปลงเป็นการท่องเที่ยวจริง ประกอบด้วย ตัวแรก “B :Bio” เป็นเรื่องราวที่จะขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนท่องเที่ยว เช่น นำความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่การเกษตร ก็ดีไซน์โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือสมุนไพร ก็ดีไซน์ท่อเงที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวมหรือ Health & Wellness หรือธรรมชาติป่าเขา ก็ดีไซน์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ตัวที่สอง “Circular” การหมุนเวียนเป็นการทำให้ต่อเนื่องจากดีไซน์คือ คิดหาวิธีใช้ทรัพยากรแบบ ใช้วน ใช้ซ้ำ อย่างคุ้มค่า แล้วทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด
ตัวที่สาม “Green” เน้นการสร้างสีเขียว หาวิธีลดผลกระทบต่อโลกทางลบน้อยที่สุด สอดรับกับปัญหาโลกร้อนซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีกลายเป็น Climate Emergency เพราะขณะนี้ทั่วโลกเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติผิดปกติ เช่น ในไทยเกิดน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ หรือประเทศอื่น ๆ เกิดลมพายุหมุนอย่างรุนแรง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
ซึ่งทางTEATA ได้จัดทำขั้นตอนการดูแลการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามสูตร “วัด-ลด-ชดเชย” ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ทุกทริประหว่างการท่องเที่ยวได้ทำโปรแกรมวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีตารางการคำนวณตามสูตรซึ่งสามารถเข้าไปนำมาใช้ได้จากเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.”
ขั้นตอนที่ 2 นำผลที่ได้มาคำนวณผล 3 ล.ลิง ลดขยะ ลดใช้ทรัพยากร ลดใช้พลังงาน แล้วดูผลลัพธ์ของค่าคาร์บอนไดออกไซด์

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อพบค่าคาร์บอนไดออกไซต์ในแต่ละทริปท่องเที่ยวยังสูงอยู่ ก็แนะนำให้ซื้อ “คาร์บอนเครดิต” ชดเชยแหล่งซื้อดังกล่าวสาธารณะยังไม่ค่อยได้รับรู้อย่างกว้างขวางจึงต้องขอให้เรียนรู้ไปด้วยกันก่อน ซึ่งอุตสาหกรรมอื่น ๆทำมานานแล้วเพราะนำร่องลดโลกร้อนก่อน แต่ใน “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ยังแทบจะไม่มีเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย และเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ถึงแม้การท่องเที่ยวจะมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 10 % แต่ก็จำเป็นจะต้องเริ่มทำจากนักท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการ เพราะไม่เริ่มก็ทำลายสิ่งแวดล้อมโลกไปเรื่อย ๆ เป็นอันตรายต่อตัวเองในอนาคตข้างหน้า
นางสาววสุมนยืนยันว่าสิงหาคม 2565 จะเพิ่มเส้นทางใหม่ “เที่ยวระยองด้วยรถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งทาง ททท.ภาคกลางกับ กับภาคตะวันออก จับมือกันสนับสนุนบริษัทจัดนำเที่ยวทำโปรแกรมขายนักท่องเที่ยว มือใหม่หัดกรีน เน้นทำกิจกรรม ลดโลกร้อน ลดปริมาณขยะจากอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อ โดยมีเรื่องราวทำให้ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดเช่น ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทำเมนูอาหารบริการนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องขนส่งย้ายมาจากพื้นที่อื่นซึ่งใช้พลังงานสูง ถือเป็นการออกแบบล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี
ดังนั้นนับจากสิงหาคม 2565 เป็นต้นไปสมาคมฯ จะกระตุ้นเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศ วางแผนเที่ยวอย่างไรให้สามารถลดขยะ ลดการใช้พลังงาน ลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งได้รวบรวมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวซึ่งสามารถติดต่อประสานงานขอตัวอย่างมาใช้จริงได้ เช่น การวางแผนปรับเส้นทางขับรถใหม่ในการเข้าไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อประหยัดพลังงาน ลดใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และอื่น ๆ ที่พึงตระหนักรู้แล้วลงมือทำร่วมกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen