“สมคิด” ถก “อุตตม” หาทางรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว

  • หลังส่งออกหดตัว-ความเชื่อมั่นไม่ฟื้นตัว
  • จี้คลังเร่งออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม
  • ย้ำ! ต้องดูแลเศรษฐกิจไตรมาส4ให้ดี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังหารือกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ว่า เรื่องปัญหาเศรษฐกิจนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้เกิดโมเมนตัม หรือ แรงส่งทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศเติบโต โดยปีนี้เป็นปีที่สำคัญที่ต้องรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้ โดยในการทำงานจะต้องดูแลทั้งในเรื่องของการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไปควบคู่กับการปฏิรูป

“เวลานี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าถามว่าปีนี้เศรษฐกิจชะลอไปกว่าที่คาดคิดไว้หรือไม่ ต้องบอกว่าไม่มากเท่าไหร่ เพราะประเทศอื่นๆ ทั่วโลกชะลอตัวมากกว่าไทย ดังนั้นแม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส 3 ปีนี้จะเติบโตเพียง 2.4% แต่ถือว่าไทยสามารถรักษาเศรษฐกิจให้ทรงตัวอยู่ได้  ส่วนไตรมาส 4 นั้นจะต้องทำให้ได้ดีเพื่อสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปยังปีหน้า เพราะตอนนี้คนไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร  ดังนั้นจึงต้องทำให้ประเทศไทยแข็งแรง”

ขณะที่กระทรวงการคลัง รู้อยู่แล้วต้องทำอย่างไร จึงไม่ต้องกังวลอะไร และขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังคิดว่าควรจะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง ซึ่งขณะนี้สิ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยนอกจากการส่งออกแล้ว ยังมีเรื่องการเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัว ที่จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่กัน 

ส่วนกรณีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การส่งออกในเดือนต.ค.ติดลบถึง 4.5% นั้น เรื่องนี้คงต้องไปถามกระทรวงอื่น แต่เรื่องการส่งออกติดลบนั้นจะโทษใครไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอลง ทำให้การนำเข้าลดลง การส่งออกต้องลดลง ซึ่งมันจะกระทบกันไปหมด ดังนั้นทุกคนต้องสู้ต้องช่วยกัน

ผู้สื่ิอข่าวรายงานว่า ประเด็นเรื่องความเชื่อมั่น เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มาก โดยความเชื่อมั่นนั้นนอกจากสะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาแล้ว ยังเป็นผลจากปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลด้วย ซึ่งจากการที่เป็นรัฐบาลผสม มีการแบ่งกระทรวงกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้งานบางอย่างไม่สามารถเดินประสานและนำออกเป็นผลทางปฏิบัติได้ เช่น เรื่องของมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ดูแลกระทรวงเกษตร ซึ่งอยู่ในความดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น

นอกจากนี้การที่เป็นรัฐบาลผสม ทำให้ไม่สามารถตกลงในเรื่องว่าใครควรเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานทุกด้านของรัฐบาล มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วย แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่มีการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล