สภาล่ม! หลังฝ่ายค้านมีญัตติด่วนให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

วันนี้ (15 ก.ย.65) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องขอให้สภาฯพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งสาเหตุที่ต้องเสนอญัตติด่วนเพราะการสอบถามประชามติไปยังประชาชนเป็นผลประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน และที่ต้องเป็นเรื่องด่วนเพราะขณะนี้สถานการณ์การเมือง จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ไม่รู้ และการจัดทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติมาตรา9(4) ยังมีอีกหลายขั้นตอน เมื่อผ่านสภาฯแล้วต้องไปผ่านวุฒิสภา และต้องเสนอ ครม.หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ประชาชนทำประชามติพร้อมกับวันลือกตั้ง จึงเป็นญัติด่วนที่ต้องพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุม

ด้าน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขาวิปรัฐบาล แสดงความเห็นคัดค้านโดยขอให้นำวาระรับทราบที่อยู่ในวาระแล้วขึ้นมาพิจารณาก่อน จำนวน 3-4 เรื่อง และใช้เวลาแต่ละเรื่องไม่นานเพราะมีหน่วยงานรอชี้แจงมาพร้อมแล้ว จากนั้นให้นำญัตติด่วนวาจาดังกล่าวเข้ามาพิจารณา

แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ยืนยันให้พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาก่อน เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจึงพิจารณาวาระรับทราบรายงานจนจบได้ และญัตติด่วนด้วยวาจานี้ พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอประกบด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง และมีความจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ว่าสภาฯจะมีมติไปทิศทางใดก็ตาม และการพิจารณาคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะขั้นตอนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประชามติ

ด้าน นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม จึงได้วินิจฉัยว่า ญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าวได้เข้าสู่วาระแล้ว จึงขอให้ที่ประชุมดำเนินการไปตามที่มีผู้เสนอญัตติด่วนก่อน 

จากนั้น นายณัฐพงษ์ แถลงสาระสำคัญของญัตติ ว่า พ.ร.บ.ประชามติ จะต้องมีการระบุอย่างชัดเจนเรื่องคำถามและคำตอบ รวมถึงสาระสำคัญประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติได้อย่างถูกต้องตรงตามเจณารมณ์ของประชาชนมากที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลาปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจาการรัฐประหาร มีกระบวนการรับรองโดยอาศัยการทำประชามติที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล มีเนื้อหาบางส่วนที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยจะต้องสอบถามประชาชนผ่านการทำประชามติก่อน จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ตนจึงต้องเสนอญัตติด่วนในวันนี้ เพื่อขอทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรนูญใหม่ผ่านกลไกลของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ 

ทั้งนี้ คำถามในการจัดทำประชามติคือ ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญปี 60 โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนคำตอบมี 3 ข้อ คือ เห็นชอบไม่เห็นชอบและ ไม่แสดงความเห็น ทั้งนี้ เชื่อว่า การจัดทำประชามติ จะเป็นทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบันที่สังคมมองว่ามีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจัดทำประชามติดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อฟื้นข้อเสนอในการร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐสภาเคยมีมติเห็นชอบไปแล้วในวาระที่หนึ่ง เป็นการสอบถามอย่างตรงไปตรงมาจากประชาชนว่าจะต้อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และหากเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เราต้องเรีบเร่งดำเนินการจัดทำประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง และเป็นการประหยัดภาษีประชาชนในการจัดทำด้วย 

ด้าน นายจุลพันธ์ กล่าวเสนอญัตติว่า ตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นที่ถกเถียงถึงที่มา กระบวนการ และการลงประชามติ วันนี้เราต้องการหยุดความสับสน จึงต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในเวลาไม่นาน เพียงแค่เวลาไม่เกิน 6 เดือน ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น กระบวนการเลือกตั้งต้องเกิดแน่นอนเพราะครบวาระสภา 4 ปี เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และใช้โอกาสไปในคราวเดียวกัน เราจึงเสนอให้มีการทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตัวแทนของประชาชน เพื่อที่จะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบ

จากนั้นเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของสมาชิก โดยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 เป็นอุปสรรคในการดำเนินการต่างๆ และให้ทำวันเดียวกับการเลือกตั้งที้จะเกิดขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว 

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเท่านั้น พรรคอื่นไม่สามารถเป็นได้ ไม่ใช่การด้อยค่าใคร แต่ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะมีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. มีสิทธิยกมือสนับสนุนให้คนเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องหาเสียงขอความเห็นชอบจากประชาชนเลย 

“ผมพูดข้อเท็จจริง และผมเห็นมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ประกาศใช้แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แฟร์ ไม่มีความยุติธรรมไม่ได้มองเห็นประชาชน เพราะฉะนั้น ผมเห็นด้วย” นายวีระกร กล่าว 

นายวีระกร กล่าวว่า แม้ในทางปฏิบัติโอกาสที่จะเกิดประชามติได้ก็ยาก แต่สิ่งที่จะเกิดคือ ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่จะแสดงออกในการลงมติ ถ้ามติของประชาชนมันเกิน 60% หรือ 70-80% ก็จะทำให้ ส.ว. ไม่สามารถพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว แต่ถ้าเสียงประชามติท่วมท้นของให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขี้นมาใหม่ ก็จะเป็นความกดดันให้ ส.ว. ไม่กล้าฝืนมติของพี่น้องประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องร่างขึ้นมาใหม่ เพราะมีข้อบกพร่องมากมาย ตนหนักใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหลือเกิน จึงเห็นชอบเห็นควรกับญัตติที่เสนอด้วยวาจาครั้งนี้ และพรรคพลังประชารัฐทั้งพรรคก็เห็นชอบ

หลังจากสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นแล้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ให้สมาชิกลงมติเห็นชอบกับญัตติทั้ง 2 ฉบับ แต่ปรากฎว่ามีส.ส.อยู่ในที่ประชุมบางตา ทำให้ต้องเสียเวลารอให้เข้ามาแสดงตนเป็นเวลานาน โดยมีการอ้างว่าการประชุมวันพฤหัส ส่วนใหญ่จะไม่มีการลงมติ เพราะเป็นวาระรับทราบรายงาน สมาชิกจึงออกมาไปข้างนอก 

หลังจากเสียเวลารอประมาณ 40 นาที องค์ประชุมจึงครบ คือ 242 เสียง แต่เมื่อมีการลงมติ กลับพบว่า มี ส.ส.จำนวนเพียง 230 เสียง โดยเห็นด้วย 215 ไม่เเห็นด้วย 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง โดย นายศุภชัย แจ้งว่า ถือว่าเสียงข้างมากเห็นด้วยกับทั้งสองญัตติ 

แต่ นายจุลพันธ์ กล่าวแย้งว่า เมื่อองค์ประชุมต้องยอมรับว่ากระบวนการไม่ครบ ซึ่งจะทำให้ความชอบสิ่งที่ลงมติเป็นปัญหาให้วุฒิสภาอ้างได้ว่า องค์ประชุมมีปัญหา เมื่อไปถึง ครม.จะมีปัญหาอีก ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จึงเสนอให้ปิดประชุม เพื่อญัตติจะได้ไม่ตก ยกไปครั้งหน้าได้ เมื่อเปิดสมัยประชุมเดือนพฤศจิกายน ก็ว่ากันใหม่ หากเดินหน้าต่อตัวญัตติจะมีปัญหาที่หลัง 

ด้าน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เห็นตรงกันว่า หากสรุปว่าญัตติผ่านแล้ว แต่องค์ประชุมไม่ครบ จะทำให้สูญเปล่า และมีปัญหาข้อกฎหมายที่ค้างคา นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับพยายามเสนอให้ว่า เมื่อองค์ไม่ครบ ควรปิดประชุมและเลื่อนการลงมติในครั้งถัดไป เพราะตัวญัตติยังมีความชอบ ไม่อยากให้ผ่านไปแล้ว มีปัญหาทีหลัง 

ในที่สุดนายศุภชัย ชี้แจงว่าการลงมติดังกล่าวถือว่าเห็นด้วยกับญัตติ ส่วนกรณีครบองค์ประชุมนั้น ถือว่าไม่ครบ ต้องเป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามระบบ ข้อกฎหมายและข้อบังคับ จากนั้นได้สั่งการประชุม 15.55 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมวาระนี้ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ได้แจ้งต่อ ส.ส.ว่าไม่ต้องแสดงตน หรือใครต้องการจะกลับไปก่อนก็ได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยแม้จะนั่งอยู่ในสภาก็ไม่กดบัตรแสดงตน