

- ชูนโยบาย Connect – Competitive – Sustainable
- ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนท่ามกลางความท้าทาย
- เปิดเวทีเสวนาการเมืองจัดทำเป็นสมุดปกขาวยื่นพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 หอการค้าไทย จัดประชุมใหญ่สามัญสมาชิก ประจำปี 65 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ วาระปี 66-67 แทนคณะกรรมการชุดเดิม รวม 76 คน ที่หมดวาระลง ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ มีมติเห็นชอบให้นายสนั่น อังอุบลกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยต่ออีก 1 สมัย และจะดำรงตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งด้วย
ทั้งนี้ นายสนั่น กล่าวภายหลังรับตำแหน่ง สมัยที่ 2 ว่า ที่ผ่านมาหอการค้าไทย ชูแนวทางการดำงาน Connect the Dots โดยดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี สำหรับในปีนี้ จะครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้งหอการค้าไทย จึงจะต่อยอดความสำเร็จเดิมด้วยแนวคิด Connect – Competitive – Sustainable เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่มีความเกี่ยวพันกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตรการการค้าระหว่างประเทศรูปแบบต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่หอการค้าไทย จะเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
“ที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้เริ่มจัดทำโครงการนำร่อง ยกระดับความสามารถของเอสเอ็มอี การสร้างการรับรู้และต้นแบบการทำธุรกิจด้วยแนวทางบีซีจี โมเดล (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) รวมถึงได้ตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกทั่วประเทศ เพิ่มจาก 100,000 ราย เป็น 200,000 ราย โดยเชื่อมั่นว่า หอการค้าไทยจะมีส่วนเติมเต็มศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายตลาดการค้าใหม่ๆโดยเฉพาะจีน ดึงการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เจาะกลุ่มนักลงทุนรายมณฑลในช่วงไตรมาส 2 พร้อมจัดงานแสดงสินค้าไทยที่ประเทศซาอุดีอาระเบียในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าไทยที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งในตะวันออกกลาง”
ด้านนายกฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า กิจกรรมแรกในโอกาสครบรอบ 90 ปีหอการค้าไทย จะจัดเวทีเสวนา “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” โดยเชิญเหล่าผู้นำภาคธุรกิจเอกชน มาสะท้อนความต้องการและสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นใน 10 ประเด็นสำคัญ เช่น การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตรอาหาร และ BCG & ESG , Digital Transformation และการศึกษาไทย, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น พร้อมทั้งเชิญพรรคการเมืองสำคัญมารับฟัง และกล่าวมุมมองความเห็น และแนวทางการสนับสนุน โดยหลังจบเวทีเสวนา จะสรุปมาตรการและนโยบายสำคัญๆ เป็นสมุดปกขาวมอบแก่ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นแนวทางจัดทำมาตรการและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน