สนค.ชี้เงินเฟ้อลดช่วยประคองรายจ่ายประชาชน

.หลังพบประชาชนเกือบ 70% ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมถึงลดลง
.แต่ยอมรับดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบการออม ลงทุน ใช้จ่าย
.ส่วนช่วง 6 เดือนคนพอใจการทำงานพาณิชย์ปานกลางถึงมาก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศในเดือนก.ค.66 เกี่ยวกับการใช้จ่ายในปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น จัดทำโดยสนค. ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 68.75% ยังคงใช้จ่ายเท่าเดิมและลดลงในช่วงนี้ที่เงินเฟ้อลดลง สะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่ลดลงช่วยประคับประคองให้ประชาชนใช้จ่ายได้ในระดับเดิม และอีก 31.25% ที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น


โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ และระดับรายได้ พบว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ กลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ 45.0% และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน 38.14% อาจสะท้อนว่า ประชาชนกลุ่มนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สำหรับประเภทสินค้าและบริการ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานที่บ้าน ค่าไฟฟ้า/น้ำประปา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง


ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้น ผู้ตอบมากถึง 59% ระบุกระทบต่อการใช้จ่าย การออม และการลงทุน ในระดับปานกลางถึงมาก โดยทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ ได้รับผลกระทบระดับปานกลางเป็นอันดับแรก มีเพียงผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ, เกษตรกร และผู้มีรายได้ 40,001 – 50,000 บาท/เดือน ที่ได้รับผลกระทบมาก


สำหรับการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงปานกลาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ลดการซื้อของฟุ่มเฟือย ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และชะลอการลงทุน/การทำธุรกิจ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบมาก เช่น กลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน จะลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก สะท้อนถึงความสามารถในการวางแผนทางการเงินที่จำกัด และอาจได้รับผลกระทบมากหากภาวะค่าครองชีพและหนี้ที่สูงขึ้น


“การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดลงของเงินเฟ้อมีส่วนช่วยให้ยังคงใช้จ่ายได้ในระดับเดิมและลดลง แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชนกลุ่มนี้ได้”


นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า พอใจในระดับปานกลางถึงดีมาก ซึ่งเป็นระดับเดียวกับการสำรวจเมื่อเดือนธ.ค.65 เฉลี่ยสูงสุดในภาคกลาง ที่ 87.54% ตามด้วย ภาคเหนือ 86.04% ภาคใต้ 83.48% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 84.21% และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 59.65% โดยผู้ตอบมากถึง 83.19% พอใจคุณภาพของบุคลากรมากที่สุด ตามด้วยประสิทธิภาพการทำงาน 81.74% และการเข้าถึงบริการต่างๆ อาทิ กิจกรรม และข้อมูล ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 81.53%